ทักษิณ-ฮุน เซน สัมพันธ์ลึกจากพนมเปญถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า

21 ก.พ. 2567 | 01:05 น.

เปิดสัมพันธ์ลึกจากกรุงพนมเปญ - บ้านจันทร์ส่องหล้า จับตา "ฮุน เซน" อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เยือนไทยส่วนตัว เยี่ยมไข้ "ทักษิณ" ระหว่าง "พักโทษ" สถานที่คุมประพฤติ "บ้านจันทร์ส่องหล้า"

KEY

POINTS

  • 21 กุมภาพันธ์ 2567 "ฮุน เซน" เยี่ยมไข้ "ทักษิณ" บ้านจันทร์ส่องหล้า ในสถานะใหม่ อดีตผู้นำกัมพูชา-นักโทษคุมประพฤติ
  • ย้อนสัมพันธ์ลึกทางธุรกิจ-อำนาจและการเมือง "สองตระกูลการเมือง"  ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย "ตระกูลชินวัตร" กับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แห่ง "ตระกูลฮุน" 
  • จับตา ปิดดีลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขุมทรัพย์ 20 ล้านล้าน ณ ศูนย์บัญชาการอำนาจแห่งใหม่ บนโต๊ะอาหารมื้อกลางวัน   

650 กิโลเมตร จากกรุงพนมเปญถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็น "ระยะวัดใจ" ระหว่าง "ทักษิณ" กับ "ฮุน เซน" ตลอดเข็มไมล์ 32 ปีที่ทั้งคู่คบหาดูใจ

การเดินทางเยือนไทยเป็นการ "ส่วนตัว" เพื่อเยี่ยมไข้ “ทักษิณ” นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ของ “ฮุน เซน” ประธานองคมนตรี ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า จรัญสนิทวงศ์ 69 เป็นอีกวาระที่สะท้อนถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีไทยกับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา 

ตลอดระยะเวลาที่ “ทักษิณ” ต้อง “ลี้ภัย” ผเนจรอยู่ต่างแดน-แผ่นดินแม่ มีเพียง “ฮุน เซน” อดีตผู้นำกัมพูชาเท่านั้นที่คอยโอบอุ้ม-กางปีกปกป้องจากเขี้ยวเล็บอำมาตย์ ให้ความช่วยเหลือเป็นที่ “หลบภัย” ทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งสุดท้ายที่ “ฮุน เซน” ได้สวมกอดกับ “ทักษิณ” พี่ชายต่างเมือง คือ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ "นายกฯพี่น้องชินวัตร" เดินทางไปอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” พร้อมกับนอนพักค้างแรมและรับประทานอาหารที่บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา 

สายสัมพันธ์แรก “ทักษิณ-ฮุน เซน” 

ความสัมพันธ์ทั้งในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ-อำนาจทางการเมืองระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” กว่า 32 ปี และยังตกทอด-เกี่ยวดองมาถึงทายาททางสายโลหิตและทางทายาททางอำนาจรุ่นสู่รุ่น  

ปี 2535 เสาเข็มต้นแรกที่ตอกความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” จนฝังลึกลงไปยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อนายทักษิณสมัยเป็นนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมได้เข้าไปบุกเบิกธุรกิจสื่อสารและสถานีโทรทัศน์ในกัมพูชา ในนามบริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ 

ปี 2537-2538 สมัยรัฐบาลชวน 1 “ทักษิณ” เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ส่วนตัว พร้อมกับยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างแนบแน่

กระทรวงต่างประเทศเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา

ในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ “ฮุน  เซน” นายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่  29  มีนาคม – 1 เมษายน 2538 ครม.ยังอนุมัติให้ต่ออายุโครงการไตรภาคีญี่ปุ่น - อาเซียน - กัมพูชา เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาออกไปอีก 1 ปี 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณ จำนวน 244.699 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่กัมพูชา 

เซฟเฮ้าส์ต่างแดน ลี้ภ้ย-หลบภัยการเมือง 

หลังรัฐประหารปี 2549 “ทักษิณ” ต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่ ชีวิตพลิกผันจาก หัวหน้ารัฐบาลเสียงข้างมาก-เบ็ดเสร็จเด็ดขาดพรรคเดียว กลายเป็น “ผู้นำพลัดถิ่น” พเนจรอยู่ต่างแดนกว่า 17 ปี

ระหว่างทาง "ทักษิณ" ได้รับการโอบอุ้มทั้งทางกายและทางใจ จาก "ฮุน เซน" เสมือนดั่ง "เพื่อนแท้-เพื่อนตาย" ในช่วงที่ทักษิณต้องตกทุกข์ เผชิญวิบากกรรมทางการเมืองอยู่ต่างบ้านต่างเมือง  

ปี 2552 วันที่ 4 พฤศจิกายน “ฮุน เซน” เปิดบ้านพักในกรุงพนมเปญต้อนรับนายทักษิณ กัลยาณมิตรต่างเชื้อชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว-ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา 

ปีเดียวกันมีเหตุการณ์ที่พิสูจน์คนของ "ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาขอส่งตัวนายทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชายอมแลกกับความบาดหมางทางการทูตที่จะเกิดขึ้น-ปฏิเสธการร้องขอขาดสะบั้น  

ปี 2553 “ฮุน เซน” ให้สัมภาษณ์นักข่าว-ตัวแทนสื่อไทยในโอกาสที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้จัดงานครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ที่วิมานสันติภาพ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีบางช่วงถึงนายทักษิณและความสัมพันธ์กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ขณะนั้นว่า 

“ประเด็นของอดีตนายรัฐมนตรีทักษิณที่ผมแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจผม และปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว เรื่องนี้จบไปนานแล้วและทั้ง 2  ประเทศก็เข้าใจ

ผมขอยืนยันว่าคุณทักษิณก็ยังเป็นเพื่อนของผมเหมือนเดิม ผมไม่ได้เป็นคนไม่มีคุณธรรม แต่ในนามของรัฐบาลกัมพูชา ผมต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ แต่ทั้งสองเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน”

กองบัญชาการรบการเมืองนอกประเทศ 

ปี 2554 ในช่วงที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกัมพูชาไฟเขียวให้นายทักษิณขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณด้านชายแดนอรัญประเทศ สระแก้ว

จนกระทั่ง “นายกฯน้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็น “นารีขี่ม้าขาว” ใช้เวลาเพียง 49 วันเข้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 สานฝันให้ “ทักษิณ” ได้มีความคิดจะ “กลับบ้าน” อีกครั้ง ด้วยการลุยไฟออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” เหมาเข่ง-สุดซอย แต่ความฝันต้องพังทะลาย เพราะถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสียก่อน   

ปี 2555 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันที่ 14 เมษายน ทักษิณ ฉลองเทศกาลสงกรานต์โดยการขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที “คนเสื้อแดง” ที่เมืองเสียมราฐ  

ปี 2566 – หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 วันที่ 5 สิงหาคม 2566 ปรากฎภาพนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปอวยพรวันเกิดครบรอบ 71 ปี ของ “ฮุน เซน” พร้อมกับนอนพักค้างแรมและรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมืองตาเขมา จ.กันดาล ก่อนเดินทางกลับไทย

จับตาปิดดีลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 หลังจาก “ทักษิณ” เดินทางกลับไทยถาวรครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลังโดนยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นช่วงที่ถูกที่ถูกเวลา เพราะอำนาจทางการเมืองของ "ทักษิณ" กับ กับ “ฮุน เซน” ได้ส่งต่อไปให้ "เศรษฐา ทวีสิน" และ "ฮุน มาเนต" ทายาททางการเมือง 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 2567 ไทย-กัมพูชากระชับความสัมพันธ์บน "ผลประโยชน์แห่งชาติ" อีกครั้งอย่างเป็นทางการ หลัง “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบันในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ พร้อมกับลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ 

  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา 
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา 
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 
  • บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา 
  • บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา 

21 กุมภาพันธ์ 2567 ทุกสายตาจับจ้องไปที่การพบกันระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” ณ  “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ จะมีการ “ปิดดีล” พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา บนโต๊ะอาหารมื้อกลางวันหรือไม่