ผบ.ตร.ติวเข้มตำรวจปฏิบัติงาน 6 ข้อหลัก

19 ก.พ. 2567 | 12:08 น.

ผบ.ตร.สั่งการตำรวจปฏิบัติงาน 6 ข้อหลัก “การถวายความปลอดภัย อำนวยความสะดวกจราจร-ดูแลความสงบเรียบร้อย-ปราบมยาเสพติด-การรับทหารเป็นตำรวจชั้นประทวน-ปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน-แก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ

พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า บ่ายวันนี้(19 ก.พ.67) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการ ผู้บังคับบัญชาหน่วยต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหาหรือข้อราชการต่างๆ

ในการประชุม ผบ.ตร.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้อยู่ในระดับเกณฑ์ดี และระดับเกณฑ์ดีเยี่ยม 

                           พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ที่ผ่านมาสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมกันบูรณาการ ประสานความร่วมมือ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) และขับเคลื่อนนโยบาย No Gift Policy ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังได้มีข้อสั่งการในการประชุม 6 เรื่อง ได้แก่

1. การถวายความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร : ให้ทุกหน่วยกำชับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และอำนวยความสะดวกการจราจร ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบฯ และ แนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด 

โดยคำนึงถึงหลักด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุด ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบกับประชาชนของพระองค์ท่าน, ให้ทำการศึกษาถอดบทเรียน และสร้างมาตรฐานในการถวายความปลอดภัย รวมทั้งประชาสัมพันธ์แนวทางการใช้รถใช้ถนนร่วมกับขบวนเสด็จฯ ให้ประชาชนทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องปลอดภัย

2. การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย : ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สืบสวนหาข่าวการนัดหมายจัดกิจกรรม การจัดการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ประเมินสถานการณ์ และพิจารณาจัดกำลังดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยอย่างเหมาะสม อย่าให้เกิดการกระทบกระทั่ง , กรณีพบการกระทำผิดกฎหมาย ให้รวบรวมพยานหลักฐานโดยละเอียดรอบคอบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เหมาะสมกับสถานการณ์

3. การปราบปรามยาเสพติด : ปัจจุบันพบการจำหน่ายน้ำกระท่อม หรือการจำหน่ายแปรรูปช่อดอกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก ให้ประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง กวดขันปราบปรามอย่างจริงจัง , เพิ่มความเข้มในการปราบปรามยาเสพติด ทั้งการสกัดกั้น การลักลอบนำเข้า-ส่งออก การปราบปรามเพื่อทำลายโครงสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ค้า การใช้มาตรการทางกฎหมาย ตัดวงจรการเงินและยึดทรัพย์ และดำเนินการโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อบำบัดรักษา และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

                           ผบ.ตร.ติวเข้มตำรวจปฏิบัติงาน 6 ข้อหลัก

4. การรับทหารกองประจำการเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน : ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติเปิดรับสมัครและคัดเลือกทหารกองหนุนที่เคยรับราชการในกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) จำนวน 500 อัตรา บรรจุและแต่งตั้งเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ และเมื่อสำเร็จการฝึกอบรมจะแต่งตั้งลงในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนั้น ให้กองบัญชาการศึกษา , กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , สำนักงานกำลังพล , สำนักงบประมาณ , สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และโรงพยาบาลตำรวจ เร่งรัดดำเนินการในรายละเอียดที่ เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรับสมัคร การคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้งและฝึกอบรม เป็นไปตามแผนและระยะเวลาที่กำหนด

5. การปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน : สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการปรับปรุงงานสอบสวน เช่น การแก้ไขคำสั่ง ตร.ที่ 419/2556, การลดขั้นตอนทางธุรการฯ , การวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งควบเพื่อเป็นเส้นทางการเจริญเติบโต, การพิจารณาเสนอขอปรับปรุงอัตราเงินเพิ่มพิเศษ เป็นต้น

ระหว่างนี้ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานสอบสวน ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  สำรวจปริมาณงานของพนักงานสอบสวนแต่ละ สน./สภ. และ กกง เพื่อปรับเกลี่ยพนักงานสอบสวนให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณงาน โดยรายงานผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบภายในวันที่ 29 ก.พ.67 

ส่วนกรณีคดีสำคัญหรือคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค หรือกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด พิจารณามอบหมายพนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวน ร่วมดำเนินการสอบสวน , ให้ผู้กำกับการ/หัวหน้าสถานี หัวหน้างาน สอบสวนด้วยตนเอง หรือจัดให้มีระบบพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหาให้พนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน สน./สภ. และ กก. 

6. การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ หาแหล่งเงินกู้ในอัตราพิเศษเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจ เพื่อนำไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินเดิมซึ่งมีดอกเบี้ยสูง  ซึ่งจะทำให้ข้าราชการตำรวจมีเงินเหลือหลังการผ่อนชำระหนี้จำนวนมากขึ้น 

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่ง ตร. ที่ 19/2567 ลง 11 ม.ค.67 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดหาเงินกู้ในอัตราพิเศษ เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจ จึงให้คณะทำงานฯ เร่งหารือกับสถาบันการเงิน และกำหนดแนวทางเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นของขวัญให้กับข้าราชการตำรวจและครอบครัว ให้สามารถดำรงชีพได้ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี