ตำรวจสอบเส้นทางเงิน โอนจากแคนาดา เอี่ยวจ้างกลุ่มพ่นสีกำแพงวัง

14 ก.พ. 2567 | 04:54 น.

เปิดข้อมูลตำรวจพนักงานสอบสวน กำลังตรวจสอบหลังพบเส้นทางการเงิน โอนจากแคนาดารวม 7 หมื่นบาท ให้ผู้ก่อเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีพ่นสีกำแพงวัง

หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขัง นักข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ จำนวน 2 ราย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 67 ในฐานะผู้ต้องหาคดีเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567

โดยศาลอาญาพิจารณาเเล้วอนุญาตฝากขังได้ โดยผู้ต้องหายื่นคำร้องพร้อมเงินสด คนละ 3.5 หมื่นบาท ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันในวงเงิน 3.5 บาท

ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว นายณัฐพล ช่างภาพอิสระ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ได้เจอน้องผู้ที่ก่อเหตุในการทำกิจกรรมยืน หยุด ขังที่หน้าศาลฎีกา จำไม่ได้ว่าก่อนที่จะมีเหตุพ่นสีหรือไม่ ก็มีการพูดคุยกัน คิดว่าการคุยกับแหล่งข่าวเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่าห้ามคุยกัน เป็นการหาข่าว ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าเป็นพวกเดียวกัน รู้ก่อนจะมีการทำกิจกรรมพ่นสี 10 นาที

มั่นใจว่าไปรายงานสถานการณ์และไปสังเกตุการณ์ไม่ได้เข้าไปขัดขวางกระบวนของเจ้าหน้าที่ ถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีการนัดแนะกัน ก็ต้องดูว่าทางตำรวจมีพยานหลักฐานผมนัดแนะกับผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ แต่คิดว่าคงไม่มี 

ที่ตำรวจบอกว่ามีกล้องวงจรปิดว่า เราไปถึงสถานที่ก่อน 10 นาที มีการพูดคุยกันก่อนก่อเหตุกล่าวว่ามีการคุยกันจริง แต่ไม่ใช่วันที่เกิดเหตุ น่าจะเป็นวันที่ไปถ่ายกิจกรรมหยุดขัง ส่วนที่ทราบการจัดกิจกรรมพ่นสีนั้นก็ทราบมาจาก นายณัฐพล หรือเป้ “ที่ผ่านมาวางตัวชัดเจนว่า เรามาทำงาน วางตัวระดับหนึ่งแล้ว ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า เรามาทำงานจริงๆ มั่นใจว่าเรามีเส้นแบ่งชัดเจน แต่คนที่มองเข้ามาอาจจะคิดไม่ตรงกับเราหรือเปล่า ก็ไม่อาจทราบได้ 

เมื่อถามว่า คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ นายณัฐพล ช่างภาพอิสระ กล่าวว่า ในใจลึกๆ ก็คิดว่ามีส่วน เนื่องจากคดีที่โดนไม่น่าจะเกี่ยวกับตนเลย ไม่เคยคิดว่าจะโดนคดีเอง เพราะทุกทีเป็นคนทำข่าว

เมื่อถามว่า ตอนจับกุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.อุ้มหายหรือไม่นายณัฐพล ช่างภาพอิสระ กล่าวว่า รู้สึกดีที่มีพ.ร.บ.อุ้มหาย เพราะตอนจับกุมเจ้าหน้าที่ย้ำเสมอว่า บันทึกภาพวิดีโอ และบอกว่าสามารถแจ้งทนายความได้ 

ด้านนายณัฐพล หรือเป้ ผู้สื่อข่าวประชาไท กล่าวว่า ไม่คิดว่าหลักฐานของตำรวจมีแค่นั้น จะเอาตีความขยายว่ามีการร่วมกันกระทำการดังกล่าวได้ ซึ่งการสู้คดีก็ขอพูดคุยกับทนายความก่อน ยืนยันว่าเราไปทำข่าว ไม่ได้ไปสนับสนุนใดๆ ตนเองไม่ทราบถึงรายละเอียด รู้เพียงว่ามีการจัดกิจกรรม จึงขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ยืนยันในหลักการว่าเราไปเสนอข่าวในวันนั้นจริง

เมื่อถามว่าทราบข่าวจากไหนว่าจะมีกิจกรรมพ่นสีรั้ววัดพระแก้วนายณัฐพล หรือเป้ กล่าวว่า อันนี้ขอปรึกษาทนายความก่อน ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ได้เมื่อถามว่า โดยคดีนี้ขึ้น จะมีการทบทวนการทำงานหรือไม่นายณัฐพล หรือเป้ กล่าวว่า คงจะทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เรื่องการทำงานอาจจะมีการคุยกันในกองข่าวแสดงความคิดเห็น

รายงานข่าวจากพนักงานสอบสวน เปิดเผยข้อมูลสำคัญในคดีต่อกรณีการทำกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัดพระแก้วเมื่อเดือนพ.ค.  2566 เพื่อคัดค้านมาตรา 112 นอกจากจะมีการรวบรวมยหลักฐานเป็นภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แล้ว ยังพบเส้นการเงินที่โอนมาจากแคนาดา 

จากข้อมูลการสืบสวน ขบวนการเคลื่อนไหว พ่นสีสเปย์  กำแพงพระบรมมหาราชวัง ยังพบข้อมูลเส้นทางการเงิน สนับสนุนผู้กระทำการโดยมีการโอนเงิน จากบุคคลที่เป็นสุภาพสตรีรายหนึ่ง จากประเทศแคนาดา โอนเงินเข้าบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นบริษัทเอกชน ได้ทำการโอนให้กับผู้ก่อการ 

จากข้อมูลการทำธุรกรรมมีการโอนเงินตั้งแต่ 18 ต.ค.65 -28 มี.ค.66 จำนวน 13 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 70,200  บาท โดยเงิน 5,000 บาทก้อนแรก ผู้ก่อการ ได้โอนไปจ่ายค่าเช่าห้องที่ค้างจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตำรวจสอบเส้นทางเงิน โอนจากแคนาดา เอี่ยวจ้างกลุ่มพ่นสีกำแพงวัง

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 67 มีการออกแถลงการณ์ขององค์กรสื่อเพิ่มเติมอีก 2 องค์กร คือสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ข้อห่วงใยในการจับกุมนักข่าวและช่างภาพ ที่อาจเข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน โดยเนื้อหาระบุว่า 

ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้นำเนินการจับกุมนายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2567 ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ว่าเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด จากการไปปฏิบัติหน้าที่และรายงานข่าวถ่ายภาพบุคคลที่กำลังพ่นสีเขียนข้อความที่กำแพงวัดพระแก้วในวันที่ 28 มี.ค.2566  ด้วยข้อหา “ เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ขีดเยียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งด้วยข้อความภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่พื้นถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ “ นั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความห่วงใยในการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอาจเข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพในนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 

การตั้งข้อกล่าวหา ยื่นต่อศาลในการออกหมายจับกุม และอายัดตัวไว้ในข้อกล่าวหาที่ไม่ได้มีโทษทางอาญาร้ายแรง อาจเป็นการกระทำการที่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวสารตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่คู่ขัดแย้งหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้กระทำการใด แม้กรณีดังกล่าวจะมีการสืบสวนในด้านที่ว่ามีการนัดหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ในกระบวนการทำงานข่าวเป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อมวลชนต้องพบปะหารือพูดคุยหรือสอบถามความคิดเห็นจากแหล่งข่าว เพื่อนำมาเสนออย่างถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน การได้รับความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนจึงมาจากผลงานที่ปรากฎว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอแสดงความห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมนักข่าว และช่างภาพ ดังกล่าวข้างต้น ที่เป็นการกระทำการเกินสมควรแก่เหตุ และขอให้ดำเนินการทางคดีไปด้วยความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคบนหลักแห่งสิทธิมนุษยชนและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การสร้างกระแสที่ก่อให้เกิดการสร้างความเกลียดชังในประเด็นที่อ่อนไหวของคนในสังคม

ตำรวจสอบเส้นทางเงิน โอนจากแคนาดา เอี่ยวจ้างกลุ่มพ่นสีกำแพงวัง