“ชวน”ประกาศไม่ทิ้ง ปชป. แนะ "มาดามเดียร์" อยู่ต่อ เหตุอายุยังน้อย ยังมีอนาคต

10 ธ.ค. 2566 | 08:08 น.

"ชวน หลีกภัย" ลั่นไม่ทิ้ง ปชป.ขออยู่แทนคุณจนวาระสุดท้าย แนะ "มาดามเดียร์" อยู่ต่อ เชื่อคงไม่ตกต่ำไปกว่านี้แล้ว ฝากกก.บห.ชุดใหม่ ยึดอุดมการณ์ จุดยืนบริสุทธิ์-ซื่อสัตย์-สุจริต อย่าเอาพรรคไปหากิน

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลังได้หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ ว่า ยังไม่รู้ว่ามีคนลาออกกี่คน ยอมรับว่าเสียดายบุคคลเหล่านั้น ไม่ทราบว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ จะลาออก ทราบเพียงที่เขาบอกว่าจะไม่มาประชุมเท่านั้น 

จึงได้ถามว่าเป็นเพราะเหตุใด และได้รับคำตอบกลับมาว่า เขาล็อคไว้หมดแล้ว มาก็ไม่มีประโยชน์ ตนจึงขอร้องให้มาประชุม จึงยอมมา แต่มาแล้วลาออกก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น 
“เสียดายคนที่เป็นกำลังสำคัญ ผู้ที่ไม่เกี่ยวกับ ส.ส.หลายคน ก็แจ้งลาออก คนที่เคยสนับสนุนพรรคก็ส่งไลน์มาขอลาออก ผมก็เข้าใจและเห็นใจคนที่ห่วงใย” นายชวน กล่าว

เมื่อถามว่าการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ มีการล็อบบี้เอาไว้ก่อนใช่หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คงเป็นอย่างนั้น ความจริง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้ใหญ่ พูดตรงไปตรงมาในที่ประชุมว่า การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ แล้วแต่เลขาธิการพรรคสั่งมา เพราะเลขาฯ ดูแลมา 4 ปี 

ฉะนั้นแล้วแต่ท่านสั่ง ซึ่งหลายคนก็พูดแบบนี้ ไม่เฉพาะผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ถึงแม้จะเป็นคนอื่น แต่ถ้าเลขาฯ เป็นคนสนับสนุน คนนั้นก็ชนะ แต่เมื่อ นายเฉลิมชัย ยอมผิดคำพูดแล้วมาเป็นหัวหน้าพรรคเอง ตนจึงได้พูดว่า อย่าให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ ความคิดที่ดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ไปร่วมกับเขาไม่ควรเกิดขึ้น 

และที่เป็นห่วงคือ อุดมการณ์ของพรรค ที่ประกาศมา 78 ปี คือ เรื่องการเมืองบริสุทธิ์ และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่ย้ำตลอดมาว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการยอมรับเป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่เพราะอยู่มานาน เพราะถ้าอยู่นานแล้วโคตรโกง โกงทั้งโคตร หัวหน้าพรรคติดคุก ก็ไม่มีใครยอมรับเป็นสถาบันการเมือง 

แต่คนรุ่นก่อน หัวหน้าพรรคทุกคนทำหน้าที่ ด้วยความซื่อตรง สุจริต จึงทำให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้น ต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในที่ประชุม จึงขอฝากกรรมการบริหารพรรคที่พะวงเรื่องพวกนี้ ให้ช่วยกันดูแล เพราะช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปดูแลในรัฐบาลมีอยู่ไม่น้อย

เมื่อถามว่ากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่สามารถทำงานกับสมาชิกพรรคที่เป็นคนรุนเก่าได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ที่จริงไม่มีรุ่น เพราะการบริหารพรรคมีกติกา และกรรมการบริหาร คือ บุคคลสำคัญที่จะนำพรรคไปสู่ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว 

“ต้องยอมรับว่า เที่ยวที่แล้ว การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค เราต้องรับผิดชอบด้วยกัน เนื่องจากการที่ได้เป็นเพราะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ผมช่วยสนับสนุนสู้กับคนอื่น ที่เป็นคนเก่งทั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายกรณ์ จาติกวณิช ที่เป็นคนเก่ง เมื่อ นายจุรินทร์ ชนะ และ เสนอนายเฉลิมชัย เป็นเลขาพรรค เราก็เลือก และเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา คนเหล่านี้ได้นำพรรคไปสู่จุดหนึ่ง จนทุกคนเป็นห่วงว่า ต่อจากนี้จะตกต่ำมากกว่านี้หรือไม่ 

ถามว่า มีหรือที่จะต่ำกว่านี้ เพราะครั้งนี้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แค่ 3 คน ในอนาคตจะดี หรือ ชั่ว อย่างไร ไม่ควรจะต่ำกว่า 3 คน แล้ว ซึ่งผลครั้งนี้ก็มาจากกรรมการบริหารชุดที่แล้ว จึงหวังว่าในอนาคตต้องฝากว่า ขอให้ยึดอุดมการณ์พรรคเอาไว้ ถึงแม้จะไว้วางใจได้ไม่เต็มที่ก็ตาม ขอฝากกรรมการบริหารพรรคบางคนที่ยังรักพรรคอยู่ รักและหวงพรรคอยู่ ให้ช่วยกันดูแล อย่าให้เขาเอาพรรคไปหากิน”

เมื่อถามว่าจะวางบทบาทในพรรคต่อจากนี้อย่างไร นายชวน กล่าวว่า ตนพยายามช่วยประคับประคอง สนับสนุนสิ่งดีให้พรรค การที่ตัดสินใจสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะคิดว่า สถานการณ์เป็นช่วงเวลาที่จำเป็น ที่จะต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับพอสมควร และหัวหน้าพรรคในประเทศไทย ที่มี นายอภิสิทธิ์ ไม่ด้อยไปกว่าใคร 

“ถ้าขี้โม้ก็จะบอกว่า เหนือกว่าคนอื่น ย้ำว่า ไม่ด้อยกว่าใคร แล้วยังมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ที่จะนำพาพรรคในช่วงเวลาแบบนี้ให้พัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้ เพราะที่คนห่วงใยพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือว่ามีอยู่พรรคเดียวที่ยังพึ่งพาได้ในเรื่องความคิด ความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอยู่ 

แต่ปรากฏผลออกมา คิดว่าแค่ไม่รับตำแหน่ง ไม่คิดว่าจะลาออก เมื่อเป็นเช่นนี้ขอให้กำลังใจว่า อย่าเพิ่งวางมือ เพราะยังมีเวลาอยู่ เช่นเดียวกับ น.ส.วทันยา บุนนาค ที่เสียดาย และชื่นชมในความพยายาม แต่เมื่อเห็นโพยที่ล็อคเอาไว้ ว่า อย่าไปรับการลงมติ 3 ใน 4 เพื่อยกเว้นข้อบังคับ (ที่ 6) ที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 5 ปี ให้สามารถสมัครชิงตำแหน่งได้ ถ้าสมาชิก 3 ใน 4 ให้การยอมรับ 

เมื่อเป็นการสกัดจึงต้องขอร้องสมาชิกในที่ประชุม ให้เปิดโอกาส ได้มีโอกาสแข่งขัน ที่จริงผลก็ไม่ได้เปลี่ยน แต่ควรเปิดโอกาสให้ได้แข่งขัน ซึ่งได้คะแนนเพิ่ม ขาดไปเพียง 60 กว่าเสียง จึงมีความรู้สึกว่า ทำไมไปกลัว หัวหน้าพรรคควรได้มาด้วยการแข่งขัน ไม่ใช่ได้มาตามโพย”

นายชวน กล่าวด้วยว่า ตนพยายามเสนอแนะในทางที่ดี แต่เขาไม่เอาแนวทางที่เราเสนอด้วยความปรารถนาดี ซึ่งหัวหน้าพรรค ตั้งแต่นายควง อภัยวงศ์ มาด้วยระบบแข่งขัน ตนก็ยังต้องแข่งขันกับ นายมารุต บุนนาค ซึ่งสมาชิกจะพิจารณาว่า ใครจะนำพรรคไปได้ดี ที่ตนได้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะสมาชิกเห็นว่า จะสามารถนำพรรคไปได้ 

และต่อมาตนได้เชิญ นายมารุต มาเป็นหัวหน้าพรรค จนมาเป็นประธานสภา จึงอยากบอกว่า การแข่งขันไม่ได้แตกแยกเสมอไป แต่ยุคที่มีการแข่งขันแล้วคนลาออกไปมาก คือ ยุคของนายจุรินทร์ แม้จะพยายามห้าม ก็ห้ามไม่อยู่ 

แต่ไม่ว่าคนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องขอชื่นชม คนที่ทำงาน ยกตัวอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่สามารถจับการโกงข้าวได้ ดังนั้น คนดีๆ เราอยากเอาไว้ และอยากเห็นคนใหม่ที่จะเข้ามา อยากเห็นมาดามเดียร์อยู่ต่อไป เพราะอายุยังน้อย ยังมีอนาคต”

เมื่อถามว่ากรรมการบริหารพรรคที่มาตามโพย จะทำให้อึดอัดในการร่วมงานหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตลอดมา ตนป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้มีสถานะมากไปกว่านี้ มีสิทธิในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง ที่จะให้ความเห็นในทางเป็นประโยชน์ เมื่อเห็นมีการฝืนมติพรรค ทั้งที่เวลา 77 ปี ของพรรคไม่เคยมีมาก่อน ที่สมาชิกจะไปฝืนมติพรรคกลางสภา ไปรับรอง นายเศษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่คนเสนอไม่ให้รับคือตัวเขาเองคือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ที่เสนอในที่ประชุมพรรค ว่าไม่ควรรับนายเศรษฐา เพราะเราไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่คนเหล่านี้กลับคำตัวเอง กรรมการบริหารชุดต่อไป จึงต้องพิจารณาด้วย

เมื่อถามว่ายืนยันที่จะยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า "ผมไม่ไปไหนหรอกครับ ยังไงผมก็ต้องอยู่ เพราะเป็นหนี้บุญคุณพรรค ผมเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง สามารถเป็นอะไรก็ได้ เพราะมีโอกาสได้อยู่พรรค ถ้าไม่อยู่ที่พรรคก็ยาก พรรคนี้ให้โอกาส โดยไม่สนใจว่า ฐานะ ตระกูลมาอย่างไร ถ้าแสดงตัวว่า คนนี้ดีพอเป็นหัวหน้าพรรคได้ เขาก็เลือก นี่คือสิ่งที่ผ่านมา ดังนั้น บุญคุณอันนี้ใช้ไม่หมด ผมต้องตอบแทนบุญคุณในช่วงปลายชีวิตการเมือง"