"มาดามเดียร์" เว้นวรรค -"สาธิต" ลาออก จากพรรคประชาธิปัตย์

09 ธ.ค. 2566 | 05:38 น.

"มาดามเดียร์" ขอเว้นวรรคกิจกรรมทางการเมือง - "สาธิต" ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซัด "เฉลิมชัย" ไม่รักษาสัจจะ

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ โดยมีผู้รับรอง 219 คน เกินกึ่งหนึ่ง 
 

ต่อมาสมาชิกในที่ประชุมได้เสนอชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้รับรอง 114 คน เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม แต่เนื่องจากน.ส.วทันยาเป็นสมาชิกน้อยกว่า 5 ปี และไม่เคยเป็น สส.ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องขอที่ประชุมรับรอง 3 ใน 4 หรือต้องไม่น้อยกว่า 196 คน เพื่อรับรองคุณสมบัติ โดยที่ประชุมมีมติรับรอง 139 คน  

น.ส.วทันยา กล่าวภายหลังมีผู้รับรองคุณสมบัติไม่ถึง 3 ใน 4 ว่า ขอขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ลงมติรับรองให้เสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ส่วนอนาคตทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้ตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น

"ต้องขอประเมิน ขอทบทวน รอดูทิศทางหลังจากนี้ของพรรคเป็นเช่นไร หลักของเดียร์ คือเลือกทำงานกับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกัน ถ้าไม่ตรงกันก็คงต้องเป็นเรื่องของเราที่จะพิจารณาตัวเอง ว่ายังสมควรที่จะทำงานกับพรรคต่อหรือไม่" น.ส.วทันยา กล่าว

เมื่อถามว่าจะใช้เวลากี่วันในการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วทันยากล่าวว่า ยังไม่ทราบ เมื่อถึงเวลาคงจะมีสัญญาณอะไรที่จะบอกเองว่า วันไหนที่ไม่ใช่แล้วจริง ๆ แต่คงยังไม่เร่งตัดสินใจในเร็ววันนี้ แต่ ณ วันนี้ จะไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ และของดเว้นกิจกรรมของพรรค จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของพรรคอีกครั้ง 

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค มีคนกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับคำว่าพรรคพวกมากกว่าจุดยืนทางการเมือง ปราศจากจุดยืนทางการเมือง ทิศทางประชาธิปัตย์ไม่ได้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปิดโอกาสให้คนใหม่ เช่น การงดเว้นข้อบังคับในเรื่องคุณสมบัติ 3 ใน 4  และคนที่นำพรรคไม่รักษาสัจจะวาจา อย่าพูดถึงการเป็นหัวหน้าพรรค เป็นนักการเมืองก็เป็นไม่ได้ วันนี้ตนจึงขอตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์