5 หญิงเก่งร่วมต้านคอร์รัปชัน เชื่อ ทุกเพศทำได้

06 ก.ย. 2566 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 09:47 น.

5 หญิงเก่งร่วมต้านคอร์รัปชัน ยันทุกเพศร่วมต้านโกงได้ "นักวิชาการ" ชี้จุดเด่นผู้หญิงมีสัญชาตญาณดีและจับพิรุธเก่ง ด้าน เลขาธิการ กพร. เชื่อผู้หญิงทำงานต้านคอร์รัปชันเชิงการส่งเสริมและการป้องกันได้ดี 

6 กันยายน 2566 วันต่อต้านคอร์รัปชัน ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดขึ้นในหัวข้อ WHAT THE FACT? ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชันจากเวทีเสวนา ACTIVE WOMEN โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)

 

5 หญิงเก่งร่วมต้านคอร์รัปชัน เชื่อ ทุกเพศทำได้

นางสาวปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม และนางจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอร์รัปชันไว้ได้อย่างน่าสนใจ 

รศ.ดร.เสาวณีย์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การต่อต้านคอร์รัปชันนั้นทุกเพศสามารถทำได้และความเป็นผู้หญิงได้เปรียบกับการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น อาทิ มีทักษะการร่วมมือกัน เวลาดำเนินการสิ่งใดคนจะให้การส่งเสริมและร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีพลังจากสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาช่วยด้วยเพราะผู้หญิงขยันและกระตือรือร้นในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าผู้ชาย

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ขณะเดียวกันแนวโน้มของโลกผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำมากขึ้นด้วย สำหรับประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชันน้อย เห็นว่า ควรมีงานวิจัยเหล่านี้มากขึ้น ในอดีตมีนักวิจัยงานคอร์รัปชันผู้หญิง เช่น ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นต้น

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ด้านนางสาวอ้อนฟ้า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในระบบราชการต่อการต่อต้านคอร์รัปชันนั้นเห็นด้วยกับ รศ.ดร.เสาวนีย์ ที่ระบุว่าผู้หญิงมีบทบาทมากเนื่องจากในภาครัฐมีบุคคลากร 1.3 ล้าน เป็นผู้หญิง 7.8 แสนคน ผู้หญิงสามารถช่วยได้ในเชิงจำนวน

ส่วนในเชิงคุณภาพนั้นการแก้ปัญหาทุจริตมี 2 มุม คือ เชิงปราบปรามและเชิงป้องกันส่งเสริม ซึ่งผู้หญิงสามารถทำในเชิงของการส่งเสริมป้องกันได้ดี 

อย่างไรก็ดี การต่อต้านคอร์รัปชันนั้นเราควรช่วยกันทำทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต ภาครัฐพยายามใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการอนุมัติ อนุญาตการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการเจอหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเรียกรับเงินจากประชาชนได้

นอกจากนี้พลังและเสียงของประชาชนมีความสำคัญการที่มีรัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก (Digital Government) จะทำให้เข้าถึงเสียงของประชาชนที่สะท้อนการทำงานของภาครัฐป้องการทุจริตได้

นางสาวปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว

นางสาวปรินดา ผู้ประกาศข่าว กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะสื่อมวลชนว่า ผู้ชายและผู้หญิงไม่ต่างกันมาก ส่วนตัวมองว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนทำการต่อต้านการคอร์รัปชันได้ไม่ต่างกันซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ผู้หญิงที่เป็นสื่อมวลชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่มีความลึกของเนื้อหา ตรงประเด็น มักจะเป็นถูกพูดถึงและกลายเป็นไวรัลเพราะบริบทของสังคมไทยบางส่วนมองว่า ผู้หญิงไม่อาจทำเรื่องนี้ได้ดี เมื่อมีผู้หญิงมาทำจึงกลายเป็นจุดสนใจ

นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม

นางสาวณัฏฐา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม กล่าวว่า เพศหญิงมีสัญชาตญาณบางอย่างที่พบความผิดปกติในจุดเล็ก ๆ ซึ่งสามารถนำสัญชาตญาณนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ ในขณะที่นางจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง ระบุว่า ผู้หญิงนั้นมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่บอกว่า ผู้หญิงนั้นมีสัญชาตญาณบางอย่างที่ทำให้พบจุดที่มีพิรุธได้ดี

นางจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง