รู้จัก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อีกครั้ง ก่อนถึงนาทีโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

13 ก.ค. 2566 | 02:03 น.

ก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะเริ่มการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (13 ก.ค.) "ฐานเศรษฐกิจ"จะพามาทำความรู้จัก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" กันอีกครั้ง บนเส้นทางการเมือง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

 

การเลือกตั้ง 2566 ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “ก้าวไกล ส้มทั้งแผ่นดิน” เป็นชัยชนะที่ทำให้ พรรคก้าวไกล มีคะแนนนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โอกาสเป็นแกนนำในการรวบรวมพรรคพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เขาประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย...แต่เส้นทางไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เกิดวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2523 เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 2 คนของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ นางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธามีศักดิ์เป็นหลานนาย ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และตามใจ ขำภโต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี จากกรณีการปล่อยกู้ให้บริษัทในกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีน้องชาย 1 คนคือ เทียน-ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผ่านการสมรสกับ ต่าย ชุติมา นางเอกภาพยนตร์ Season Change และหนีตามกาลิเลโอ มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน เด็กหญิงพิพิม ลิ้มเจริญรัตน์ วัย 7 ขวบ

การเลือกตั้ง 2566 ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “ก้าวไกล ส้มทั้งแผ่นดิน” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

เส้นทางการเมือง 19 ปี

"พิธา หรือ ทิม "เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เมื่อ 19 ปีที่แล้วในสมัยรัฐบาล ทักษิณ 1 ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย ในช่วงที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

บุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้ามาทำงานการ คือ "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์"  เลขานุการส่วนตัว ทักษิณหรือที่บรรดานักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเรียกติดปากกันว่า "ป๋าดุง" ลุงคนเดียวของพิธา

ประมาณปี 2547 ผดุง ได้ฝากฝัง พิธา กับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้เข้ามาเรียนรู้งานทางการเมือง ทางสมคิด จึงตั้งให้พิธา เป็นหนึ่งในทีมงานของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปรึกษา ดร.สมคิด ในขณะนั้น

หน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมาย คือ งานกลั่นกรองเอกสาร เนื้อหาโครงการของรัฐบาลก่อนเสนอให้ดร.สุวิทย์พิจารณา เพื่อส่งต่อให้ดร.สมคิด

จากนั้นในปี 2549 พิธาได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโท การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามในหนังสือรับรองกับมหาวิทยาลัย

หลังจากนั้น "พิธา"ได้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ปี 2561 และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 4 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรก

"พิธา" ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่

เส้นทางการเมืองที่ทำให้หลายคนจดจำชื่อของ "พิธา" คือ การอภิปรายนโยบายเกษตรของรัฐบาล โดยในช่วงหนึ่งได้มีการพูดเปรียบเปรยปัญหาของเกษตรกรไทย กับ "กระดุม 5 เม็ด" ซึ่งการอธิปรายในวันนั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ไปจนถึงรัฐมนตรีอย่าง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ได้ออกปากชื่นชมแนวคิดดังกล่าว

ต่อมาในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่  "พิธา"และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่อีก 54 คนได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563

การศึกษา

  • ประถม-มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
  • มัธยมตอนปลายที่ประเทศนิวซีแลนด์
  • จบปริญญาตรี สาขาการเงิน (ภาคภาษาอังกฤษ) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาโท การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • ปริญญาโท การบริหารธุรกิจ Sloan สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

กกต. มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากกรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี

วิบากคดีความของ "พิธา"ก่อนการโหวตเลือกนายกฯ

พิธาเจอคดีฟ้องร้องที่มีความคืบหน้าถึงสองคดีพร้อมกันเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) ซึ่งอาจมีผลส่งให้เขาหมดโอกาสได้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขณะเดียวกันก็ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผู้สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นัดชุมนุมกันหน้าสภาวันนี้เพื่อแสดงพลังสนับสนุนเขา แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่พร้อมจะผลักประเทศไทยให้กลับเข้าสู่วังวนของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและความวุ่นวายทางการเมืองที่ครอบงำประเทศไทยมากว่าสองทศวรรษแล้ว

โดยคดีแรกเป็นเรื่องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3  ) ประกอบมาตรา 101 ( 6 ) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้นายพิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ส่วนคดีที่สองเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย” ในคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่...พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ ให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง