สื่อต่างประเทศเกาะติดศึกถล่ม "พิธา" ชะตาการเมืองขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญ

12 ก.ค. 2566 | 19:03 น.

สื่อต่างประเทศรวมทั้งรอยเตอร์ เอพี อัลจาซีรา บลูมเบิร์ก และไทม์ ตามติดกรณี “พิธา” หน.พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้าสภาเป็นอันดับหนึ่ง กำลังถูกโจมตีหลายด้านก่อนที่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค.จะเริ่มขึ้น ทำให้เส้นทางสู่ตำแหน่งนายกฯของเขาดูจะริบหรี่

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหมือนหมัดคู่ในรูปคดีความกำลังโถมเข้าใส่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดย 8 พรรคพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นการถล่มโจมตีก่อนที่การประชุมรัฐสภา เพื่อ พิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี กำลังเริ่มขึ้นในวันนี้ (13 ก.ค.) เวลา 09.30 น.

รอยเตอร์ ระบุว่า พิธาเจอคดีฟ้องร้องที่มีความคืบหน้าถึงสองคดีพร้อมกันเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) ซึ่งอาจมีผลส่งให้เขาหมดโอกาสได้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขณะเดียวกันก็ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผู้สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นัดชุมนุมกันหน้าสภาวันนี้เพื่อแสดงพลังสนับสนุนเขา แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่พร้อมจะผลักประเทศไทยให้กลับเข้าสู่วังวนของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและความวุ่นวายทางการเมืองที่ครอบงำประเทศไทยมากว่าสองทศวรรษแล้ว

โดยคดีแรกเป็นเรื่องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3  ) ประกอบมาตรา 101 ( 6 ) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้นายพิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ชะตากรรมของนายพิธาบนเส้นทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนคดีที่สองเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย” ในคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่...พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ทั้งนี้ ให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

รอยเตอร์ระบุว่า นายพิธานั้นมีความยากลำบากอยู่แล้วในการระดมคะแนนเสียงสนับสนุนเขาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดเก่าที่ปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ และตอนนี้ ทั้งสองคดีที่เขาเผชิญนับเป็น “จุดพลิกผัน” อีกครั้งหนึ่งในศึกช่วงชิงอำนาจที่นำความยุ่งเหยิงมาสู่ประเทศไทยตลอดช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ระหว่างกลุ่มสายอนุรักษ์ที่ปกป้องสถาบันประกอบด้วยกองทัพและชนชั้นสูง กับกลุ่มประชานิยมหัวก้าวหน้าที่ต้องการเห็นการปฏิรูปและประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า พรรคปชป.ได้ที่นั่งในสภา 25 ที่นั่ง และพวกเขาจะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ จากการที่พรรคก้าวไกลของนายพิธามีนโยบายจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะที่นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะต้องสง่างามและปราศจากมลทิน ดังนั้นการที่กกต.มีมติเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่านายพิธาขาดคุณสมบัติส.ส.หรือไม่นั้น ก็อาจจะมีผลทำให้เสียงสนับสนุนเขาลดลง

ด้าน สำนักข่าวเอพี รายงานสอดคล้องกันว่า ถึงแม้จะยังคงได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (13 ก.ค.) แต่ท่าทีของกกต.ในครั้งนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ นายพิธายังจะได้รับเสียงสนับสนุนได้เพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยหรือไม่  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บุคคลที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ ส.ว.) เกินกึ่งหนึ่ง โดยสมาชิกรัฐสภาปัจจุบัน กำหนดให้มีส.ส. 500 คน สมาชิกวุฒิสภา 250 คน รวมทั้งสิ้น 750 คน ดังนั้นการได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 คน

เอพีรายงานว่า มีความหวั่นวิตกมาตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ในเวลานี้อาจใช้กลเกมการเมืองทุกรูปแบบเพื่อยึดครองอำนาจเอาไว้ ซึ่งในช่วงเวลาเกือบๆสองทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาได้ใช้อำนาจศาลและองค์กรอิสระอย่างกกต.ในการตัดกำลังหรือสลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง

อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ผู้ต้องหาคดี 112 ประกาศว่า"การต่อสู้ได้เริ่มต้นแล้ว"

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า คดีการถือหุ้นสื่อซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง กำลังเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาให้กับนายพิธาซึ่งแม้เขาจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาได้โอนหุ้นไอทีวีให้คนอื่นไปแล้ว และบริษัทดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อในเวลานี้ แต่หากว่าศาลมีความเห็นตามกกต.ว่าเขาขาดคุณสมบัติเพราะเรื่องนี้จริงๆ และยังลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งๆที่รู้ว่ากำลังทำผิดกฎกติกา นั่นก็อาจจะทำให้เขาต้องเผชิญโทษจำคุกถึง 10 ปี และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 20 ปี

 ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวอัลจาซีราว่า การเคลื่อนไหวของกกต.ที่ให้ผลเชิงลบต่อนายพิธาในครั้งนี้ ถือเป็นกลอุบายเก่าๆที่นำมาใช้ล้มล้างความต้องการของประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการพยายามขัดขวางการเป็นนายกฯของนายพิธาโดยใช้ระบบเป็นเครื่องมือ เขาเชื่อว่าความพยายามเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนออกมาประท้วงในท้องถนน และคราวนี้คงไม่จบลงง่ายๆ

คาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการประกาศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของ นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ผู้ต้องหาคดี 112 ที่โพสต์ข้อความเขียนด้วยลายมือบนเฟซบุ๊กว่า “...การตอบโต้ต่ออำนาจที่คอยทำลายประชาธิปไตย มีความจำเป็นต้องก่อเกิด ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร ให้ทุกคนรู้ว่า การต่อสู้ได้เริ่มต้นแล้ว...

ด้าน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เจอกับการท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการระดมเสียงสนับสนุนจากฝั่งส.ว.ให้ได้เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะคดีความที่เขาเผชิญอยู่อาจทำให้เขาหมดคุณสมบัติที่จะเป็นส.ส. และอาจทำให้เขาหมดโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แม้ว่าชื่อของเขายังสามารถได้รับการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาวันนี้ในฐานะแคนดิเดตนายกฯก็ตาม

ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ที่ปรึกษาบริษัท ยูเรเชีย กรุ๊ป ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า แม้จะได้รับการเสนอชื่อให้รัฐสภาพิจารณา แต่ดูทรงแล้ว เขาไม่น่าจะได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี   

นิตยสารไทม์ ให้ข้อสรุปว่า ชะตากรรมของนายพิธาบนเส้นทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทก็อ่อนค่าลงจนกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน โดยล่าสุดอ่อนค่าลงสู่ระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ของเอเชียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ในช่วงเวลาเดียวกัน (หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ตกอยู่ในสถานะเป็นตลาดที่ย่ำแย่ที่สุดในเอเชีย

ไทม์สะท้อนภาพบรรยากาศการเมืองที่คุกรุ่นและสุ่มเสี่ยงถอยหลังลงคลองผ่านการให้สัมภาษณ์ของนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่ว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (13 ก.ค.) จะนำประเทศไทยมาสู่ทางแยกที่จะต้องเลือกเดิน ว่าจะย้อนกลับไปสู่การเมืองรูปแบบเดิมๆที่ไม่สนใจเสียงของประชาชน หรือจะเลือกเส้นทางใหม่ที่ก้าวไปข้างหน้า เขาเองเชื่อว่าคราวนี้ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไป   

ข้อมูลอ้างอิง