"มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

09 ก.ค. 2566 | 03:14 น.

‘มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ทวิตข้อความในโซเชียล ประกาศลงชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ทำความรู้จักประสบการณ์การทำงานทั้งหมดที่นี่

วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า “ประกาศ ! เปิดตัวลงสมัครแข่งเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” นะคะวันนี้ #Mallikaboon เจอกัน

ล่าสุด นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  บอกก่อนเข้าร่วมประชุมประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ว่า ถือเป็นปรากฎการณ์ที่จะทำให้เห็นว่าเสรีภาพประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่ ปชป. และเราเป็นหนึ่งคนที่จะได้แสดงศักยภาพให้ได้เห็นถึงความงามเป็นประชาธิปไตย และ พรรคประชาธิปไตยถือเป็นพรรคการเมืองที่มีรากเง้าและดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนที่จะลงสมัคร และที่ผ่านมาพรรคได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงเจตจำนงค์ ซึ่งตนก็ตัดสินใจอยู่นานมาก และเมื่อพรรคต้องการบุคลากรที่หลากหลาย ตนจึงลงสมัคร เพื่อต้องการทำเรื่องปฏิรูป

เพราะเป้าหมายที่สูงที่สุดจะต้องมีการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง ตอนที่มีการเปิดตัวตั้งแต่ต้นไปออกรายการต่างๆ เราตั้งใจอยู่แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทันสมัย จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงก็จะต้องทำการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง ก็จะต้องการคนที่มีความเข้มแข็งทั้งจิตใจและภาวะต่างๆ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นใหม่จะได้มีการนำพาพรรคก้าวผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้ได้ และ ที่สำคัญการเป็นผู้นำจะต้องมีความเข้มแข็งทั้งจิตใจและการวางโครงสร้าง และ ความร่วมมือต่าง ๆ ดังนั้นเชื่อมั่นว่า การที่เรามีเจตจำนงค์ในการทำงาน มั่นใจว่าคนที่เป็นแฟนคลับของพรรคจะได้มีความมั่นอกมั่นใจ รวมถึงมีกำลังใจต่อสู้

 “ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ก้าวข้ามสิ่งต่างๆไปด้วยกัน”

 

 

 นางมัลลิกา ย้ำว่า จะไม่มีการถอนตัว และ อยากสร้างปรากฎการณ์ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่มีพระแม่ธรณีบีบมวยผม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะมีผู้หญิงสัก 1 คน ไม่เพียงแต่การส่งชื่อไปในช่องทางต่าง ๆแต่เราจะเอาจริงและจริงจังกับเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปรึกษาหารือกับใครเฉพาะเจาะจง เนื่องจากการปรึกษาหรือไม่ปรึกษาพรรคก็ไม่จำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว ตนมีคุณสมบัติครบ ที่สำคัญคืออยู่ พรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งแต่ปี 2550 ทำงานให้พรรคมาโดยตลอด มั่นใจว่าศักยภาพของตนและทีมสามารถพลิกฟื้นประชาธิปตย์ได้

“เราก็รู่ว่าสถานการณ์ค่อนข้างหนักและท้าทายมาก แต่ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์ เราต้องก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้เพื่อจะให้เกิดความยิ่งใหญ่ และ จะนำประชาชนสามารถแก้วิกฤตสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมือง วิกฤตความเชื่อมั่น วิกฤตปากท้อง การแตกแยกทางความคิด ดิฉันมั่นใจว่า วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดคือ วิกฤตของการแตกแยกทางความคิด ซึ่งเจนอย่างเรา อยู่ตรงกลางระหว่างเจนใหม่กับเจนเก่า ดังนั้นหากมีจุดที่เราเชื่อมได้ มีความทันสมัย และ ใช้รูปแบบเช่นการนำ เอไอ แล ไอที มาปฏิรูปพรรคได้ เชื่อว่า เราจะฝ่าสถานการณ์นี้ไปให้ได้”

นางมัลลิกา ยังกล่าวอีกว่า ตนมีความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว ว่าเราจะเป็นผู้หญิงคนเดียว ถ้าไม่มีการเสนอชื่อผู้หญิงคนอื่น และเรามีแผนปฏิรูปพรรคอย่างชัดเจนมนการพาพรรคผ่านไปได้ และมั่นใจว่าสมาชิกพรรคจะเห็นจุดที่ต่างออกไป ไม่เหมือนเดิม โแยเฉพาะเรื่องการนำพาพรรคไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างไรในอนาคต และเชื่อมประสานคนทุกรุ่นได้ จึงมั่นใจว่าเป็นแนวทางที่แปลกและแตกต่าง

พร้อมย้ำอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงอุดมการณ์เช่นเดิม แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเรื่องของยุคสมัยและเครื่องมือที่ใช้ การเข้าถึงประชาชนที่จะต้องเข้าหาประชาชนมากกว่าให้ประชาชนเข้าหา

 

 

 

 

 

ด้านประวัติ มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ชื่อเล่นว่า “ติ่ง” และที่เพื่อนๆในวงการสื่อเรียกว่า “มอลลี่” เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีเชื้อสายไทลื้อจากผู้เป็นตาและยาย

 "เธอ" จบการศึกษาจากโรงเรียนปงรัชดาภิเษก โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และจบการศึกษาปริญญาเอก วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

เป็นอดีตนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย และเป็นนักกีฬายิงปืนสมัครเล่นของชมรมยิงปืนรบพิเศษ และจบหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงมหานคร3 กับ นมธ.9 หรือหลักสูตรธรรมศาสตร์เพื่อสังคม

ด้านชีวิตส่วนตัว มัลลิกา บุญมีตระกูล ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับ นายณัฐพล มหาสุข ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานแก่คู่บ่าวสาว ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พร้อมการจดทะเบียนสมรส ณ วังสวนจิตรลดา ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของสามีตามที่ได้จดทะเบียนและนำนามสกุลเดิมจดทะเบียนเป็นชื่อกลางจึงมีชื่อตามบัตรประชาชนใหม่ว่า นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข

การทำงาน

มัลลิกาเป็นที่รู้จักจากการเป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี รายการร่วมมือร่วมใจ รายการสน.ไอทีวี ซึ่งเป็นแนวรายการชาวบ้านร้องทุกข์

ต่อ มามัลลิกาได้ลาออกจากไอทีวีและลงสมัครในโดยในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคมหาชน การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยทั้งหมดเป็นการลงสมัคร ส.ส. ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา แต่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง

โดยเคยมีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติปี พ.ศ. 2549 หลังการรัฐประหารในกลางปีเดียวกัน และเป็นผู้ช่วย เลขานุการ รัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ล่าสุดได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวผลิตภัณฑ์ด้านความงามและเป็นประธานบริหารธุรกิจศูนย์การค้า เป็นต้น

 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 30 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) จนเมื่อ พ.ศ. 2565 เมื่อไชยยศ จิรเมธากร ได้ขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มัลลิกาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน ไชยยศ ซึ่งนางมัลลิกาได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) 

สำหรับในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 มัลลิกาได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 19