โยนรัฐบาลใหม่ สางหนี้  รถไฟฟ้าสายสีเขียว 5หมื่นล้าน บีทีเอส

29 พ.ค. 2566 | 23:55 น.

กทม.อ่วมหนี้ “สายสีเขียว” แสนล้าน โยนรัฐบาลใหม่สางหนี้ งานโยธา -จ้างเดินรถ บีทีเอสออกโรงกระทุ้งชำระหนี้ 5 หมื่นล้าน

 

มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังคงเป็นวังวนแก้ปัญหาไม่ลงตัวสำหรับภาระหนี้ก้อนมหึมากว่า 1 แสนล้านบาทที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องรับภาระ ที่แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ หนี้จากงานโยธา ส่วนต่อขยายสองส่วน รับโอนมาจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และหนี้ที่ค้างชำระบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กรณีรับจ้างเดินรถ และหนี้ติดตั้ง ระบบเครื่องกล/ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาบีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถึงสองครั้ง

อีกปมปัญหาใหญ่คือ การจัดเก็บค่าโดยสารเพื่อนำรายได้มาช่วยแบ่งเบาภาระชำระหนี้ให้เอกชนแต่ประเมินว่าไม่เพียงพอ หากจัดเก็บในราคาที่ต่ำเกินไป อีกทั้งไม่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ลงตัวได้ ส่งผลให้ปัจจุบันยังคงเปิดนั่งฟรีสำหรับประชาชนในส่วนต่อขยาย ขณะเอกชนยังแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ยอมรับว่า การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กทม. จะหารือเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการโอนภาระหนี้งานโยธาของโครงการส่วนต่อขยาย กลับคืนไปยังฝั่งรัฐบาล หรือกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ

รวมถึงภาระหนี้ที่ยังเป็นปัญหากับภาคเอกชน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสัญญาจ้างเดินรถ ที่ยังคงมีอายุสัญญาถึงปี 2585 และถึงแม้ว่า บีทีเอสซีหมดอายุสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนกลาง) ลงปี 2572 ก็ตาม สำหรับทางออกของกทม. พิจารณาว่าจะนำกลับมาดำเนินการเองหรือต่อสัมปทาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายรัฐร่วมทุนเอกชน

สอดคล้องกับ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิส.ส.พรรคก้าวไกล และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า หากเข้ามาบริหารบ้านเมือง ต้องหารือฝ่ายบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานและในฐานะผู้รับจ้างเดินรถด้วย เพราะกรณีหมดสัญญา สัมปทาน ปี2572 สามารถ เปิดแข่งขันและต่อ สัมปทานได้แต่ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายรัฐร่วมลงทุนเอกชน

ส่วนอัตราค่าโดยสาร ทางออกที่ดีที่สุดต้องเข้าระบบโครงสร้างร่วม (รถเมล์ กับรถไฟฟ้า) ซึ่งราคาไม่เกิน 45 บาทตลอดสาย หรือต่ำกว่านี้ ตามนโยบายพรรคร่วม ซึ่งกรณีส่วนต่างหากสูงกว่าราคาค่าโดยสารที่กำหนด จะชดเชยให้กับเอกชนเพื่อความเป็นธรรมและประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรางดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่า ภาระหนี้ส่วนงานโยธาส่วนต่อขยาย ฝ่ายรัฐบาลควรจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ ไม่ใช่กทม. รวมถึงการหาทางออกเกี่ยวกับหนี้ที่เอกชนรับภาระ

ต่อเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า หากมีรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาทางบีทีเอสซีอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาการค้างชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัท เพราะปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกทม. และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระหนี้ประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถเกือบ 30,000 ล้านบาท และหนี้ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 20,000 ล้านบาท

 ที่ผ่านมาบีทีเอสซีได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองครั้งที่ 1 ในกรณีให้กรุงเทพมหานคร  และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ 1 สายสีสม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตและแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560-กรกฎาคม 2564 โดยศาลปกครองมีคำสั่งให้กรุงเทพ มหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด รับผิดชอบชำระหนี้ร่วมกันเป็นจำนวน 11,755.06 ล้านบาท ขณะนี้ทางกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด อยู่ระหว่างอุทธรณ์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

 ส่วนการฟ้องร้องครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ทางบีทีเอสซีได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพิ่มอีก1 คดี คือคดีที่ กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ 1และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564-22 พฤศจิกายน 2565 เป็นจำนวน 10,600 ล้านบาท นายสุรพงษ์ กล่าวในที่สุด

 รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือเป็น 1 ใน 4 เรื่องเร่งด่วนที่ นายชัชชาติ ประกาศในวันรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหารือกรณีสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวและปัญหาหนี้ที่กทม.ต้องแบกรับและดำเนินการตามแนวนโยบายที่เคยหาเสียงไว้

กล่าวคือ การทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดสัญญาสัมปทานบีทีเอสซี หากจะดำเนินการได้ต้องหมดอายุสัมปทาน ในปี 2572 เสียก่อน