“MOU” เงื่อนไขทางการเมืองไทย “รัฐบาลผสม” ต่างประเทศใช้กันหรือไม่

23 พ.ค. 2566 | 07:09 น.

ทำความเข้าใจ คำว่า “MOU” บันทึกความเข้าใจ ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ทางการเมืองไทยที่ถูกนำมาใช้ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้ง แล้ว “รัฐบาลผสม” ต่างประเทศใช้ MOU กันหรือไม่

เพียง 1 วันหลังการเลือกตั้ง 2566 "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศชัยชนะและพร้อมจัดตั้งรัฐบาลผสม ผ่าน MOU ทำให้ช่วงนี้คนไทยได้ยินคำนี้กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับ MOU ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการเมืองไทย โดยเมื่อวานที่ผ่านมา ได้มีการการเซ็น MOU กับพรรคร่วม 8 พรรค โดยถือฤกษ์วันที่ 22 พ.ค. 66 วันครบรอบ 9 ปี รัฐประหารของไทย

คำว่า MOU (เอ็มโอยู) ย่อมาจาก Memorandum of Understanding  หมายถึง บันทึกความเข้าใจร่วมกันโดยสมัครใจ ที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุ ไม่มีข้อผูกมัด ไม่ถือว่าเป็นเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลตามกฎหมายโดยตรง ซึ่งโดยปกติแล้ว เรามักจะเห็นการใช้ MOU สำหรับความตกลงที่มีขอบเขตจำกัด หรือ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการถาวร เพียงแค่เป็นหลักฐานยืนยัน ถึงสนับสนุนการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ

ซึ่งแตกต่างจาก MoA (Memoradum of Agreement) คือ ข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบหนังสือหรือสัญญาที่มีข้อความระบุเป็นหลักเกณฑ์หรือวิธีการ ให้บุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นข้อกติกา ข้อที่นัดหมายกันไว้หรือกำหนดไว้ หากฝ่ายไหนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดทางกฎหมาย

ก่อนที่จะไปดดูว่ามีประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลผสมใช้ MOU กันไหม ขออธิบายคำว่า รัฐบาลผสม (Coalition government) เพื่อความเข้าใจกันอีกครั้ง

“รัฐบาลผสม” (Coalition government) คืออะไร 

รัฐบาลผสม คือ รัฐบาลที่ประกอบไปด้วยกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองหลายกลุ่มมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากขึ้นบริหารประเทศ สาเหตุที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลผสมนั้นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา รัฐบาลผสม อาจก่อตั้งขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาระดับชาติหรือวิกฤตการณ์

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงสงคราม เพื่อให้รัฐบาล มีระดับความชอบธรรมทางการเมืองที่สูง ขณะที่ยังได้มีบทบาทในการลดความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ในช่วงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองอาจประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมือง ทุกพรรค เมื่อรัฐบาลผสมเกิดแนวคิดที่ต่างกัน จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในประเทศไทย คำว่า รัฐบาลผสม ใช้เป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 2480 โดยนักการทูตชาวอังกฤษชื่อ Sir Jirsy Crossby ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีลักษณะเป็น “รัฐบาลผสม” (Coalition government) เพราะประกอบด้วยกลุ่มการเมืองฝ่ายพลเรือน นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ กลุ่มหนึ่งกับกลุ่มทหารนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนายทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งกลุ่มของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งรวมกันประกอบเป็นรัฐบาลทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

ต่อมาคำว่ารัฐบาลผสมนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น ตามปรากฏการณ์รัฐบาลผสมของเมืองไทย จะมีความชัดเจนและเห็นได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีลักษณะโดดเด่นมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้น จนปัจจุบัน เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นจึงต้องมีการรวมตัวกันของพรรคการเมืองหลายพรรคเพื่อให้มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลเสมอ

ต่างประเทศ เมื่อต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ก็มี MOU

 

สหราชอาณาจักร

ปี 2010 ผลการเลือกตั้งทั่วไปไม่มีพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมาก ผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดคือ พรรคคอนเซอร์เวทีฟ จึงมีการร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ซึ่งได้ทำเอกสารข้อตกลงที่"Coalition Agreement for Stability and Reform" 

เยอรมนี

การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2021 มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคโซเชียลเดโมแครต พรรคกรีน และพรรคฟรีเดโมเครต หลังเยอรมนีอยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) กว่า 16 ปี มีข้อตกลงภายในพรรคร่วมรัฐบาล ชื่อว่า "Dare more progress – Alliance for Freedom, Justice and Sustainability” เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นรัฐบาลผสมเเละจัดทำ MOU อาทิ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เคนยา 

ที่มา : BBC , สถาบันพระปกเกล้า