svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ลุ้น 30 มี.ค.นี้ ศาลปกครอง พิพากษา ปมถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง

21 มีนาคม 2566

นัดแรก “ศาลปกครองกลาง” พิจารณาคดี ปมถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง หลังการรถไฟฯฟ้องกรมที่ดิน ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เมินตั้งคณะกรรมการสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ พร้อมนัดพิพากษาคดีวันที่ 30 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)

 

สำหรับการนั่งพิจารณาคดีของศาลฯดังกล่าว ทั้ง รฟท. (ผู้ฟ้องคดี) และกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ส่งคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลฯ และไม่ประสงค์แถลงเป็นวาจา 
 

ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แสดงความเห็นในคดีที่ดินเขากระโดงต่อองค์คณะฯ ใน 2 ประเด็น สรุปความได้ว่า 1.กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณแยกเขากระโดงที่เป็นการเอกสารสิทธิทับที่ดินของ รฟท. หรือไม่

 

ส่วนกรณีกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ปรากฏแจ้งชัดว่า ที่ดินบริเวณแยกเขาโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินของ รฟท. และแม้ว่าคำพิพากษาของศาลฯดังกล่าวจะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่เนื่องที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. กรมที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องที่ดินของรัฐ จึงต้องตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของ รฟท.หรือไม่
 

2.กรมที่ดินต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดให้แก่ รฟท. หรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า แม้ว่าตุลาการผู้แถลงคดีจะเห็นว่า กรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า กรณีไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แต่เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.ยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ดังนั้น รฟท.จึงยังไม่ได้รับความเสียหายในทางละเมิด ส่วนกรณีที่ รฟท.อ้างว่าจะได้รับค่าเช่าจากให้เช่าที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตเท่านั้น

 

ตุลาการผู้แถลงคดี จึงมีความเห็นว่า กรมที่ดิน โดยอธิบดีกรมที่ดิน จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก 

 

นอกจากนี้หลังจากตุลาการฯได้แถลงความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฯได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 30 มี.ค.2566 เวลา 10.00 น.


สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก เมื่อเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ โดย รฟท.บรรยายฟ้องว่า เดิมที รฟท. ได้ถูกประชาชนที่อาศัยครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง ฟ้องร้อง เนื่องจาก รฟท. ได้ยื่นคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

 

ทั้งนี้รฟท.จึงมีความประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังต่อไปนี้

 

1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 ส.ค.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3539 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีพื้นที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยมิชอบ ตามหนังสือเลขที่ รฟ.1/1911/2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว และขับไล่ผู้ครอบครองและถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

 

5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินค่าเสียหาย 707,638,320 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,969,860 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ