“ความยุติธรรมไม่ล่าช้า” คดีศาลปกครองจบภายใน 2 ปี 6 เดือน ช้าสุด 3 ปี 9 เดือน

23 ม.ค. 2566 | 11:00 น.

“ศาลปกครอง”ออกไทม์ไลน์ประกาศร่นเวลาพิจารณาคดีใหม่ ขีดเส้น 1 คดีต้องพิพากษาชี้ขาดภายใน 2 ปี 6 เดือน ช้าสุดไม่เกิน 3 ปี 9 เดือน ประธานศาลปกครองสูงสุด เชื่อจะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมไม่ล่าช้า และไม่กระทบต่ออิสระในการอำนวยความยุติธรรมของศาล

วันนี้ (23 ม.ค.66) นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ลงนามออกประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมไม่ล่าช้า และไม่เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรม หรือ การดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลไม่ว่าทางใด    

                                       วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด
โดยประกาศดังกล่าวกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี และองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ในศาลปกครองชั้นต้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในแต่ละคดีให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี 6  เดือน แยกเป็น  

 -กระบวนการตรวจคำฟ้อง-คำอุทธรณ์ การแสวงหาข้อเท็จจริง จนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ต้องใช้เวลาไม่เกิน 20 เดือน  

-ขั้นตอนการทำคำแถลงการณ์ ไม่เกิน 6  เดือน

-ขั้นตอนการนั่งพิจารณาและการจัดทำคำพิพากษา ไม่เกิน 4  เดือน เว้นแต่ ตุลาการมีคดีอยู่ในความครอบครองเกินกว่า 48 คดี และไม่เกิน 96 คดี ให้เพิ่มระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนออกไปอีก 0.25 เท่า ทุกจำนวน 24 คดี แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 3 ปี 9 เดือน  

สำหรับตุลาการเจ้าของสำนวนคดี และองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุด  ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในแต่ละคดีให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี 6  เดือน แยกเป็น  

-กระบวนการตรวจคำฟ้อง-คำอุทธรณ์ การแสวงหาข้อเท็จจริง จนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ต้องใช้เวลาไม่เกิน 18 เดือน  

-ขั้นตอนการทำคำแถลงการณ์ ไม่เกิน 6 เดือน
-ขั้นตอนการนั่งพิจารณาและการจัดทำคำพิพากษา ไม่เกิน 6 เดือน เว้นแต่ ตุลาการมีคดีอยู่ในความครอบครองเกินกว่า 100 คดี และไม่เกิน 200 คดี ให้เพิ่มระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนออกไปอีก 0.25 เท่า ทุกจำนวน 50 คดี แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 3 ปี 9 เดือน    

เว้นแต่ในคดีที่มีเหตุพิเศษ ได้แก่ 

-กรณีที่มีเหตุที่จะต้องเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนคดี หรือ กรณีที่มีการคัดค้านตุลาการ    

-กรณีที่คู่กรณีขอให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่การไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ หรือสำเร็จบางส่วน 

-หรือกรณีที่มีการพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา 

-หรือกรณีที่มีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล 

-หรือกรณีที่มีการฟ้องแย้ง 

-หรือกรณีที่มีคำร้องสอด หรือศาลเห็นสมควรเรียกบุคคลผู้อาจมีผลกระทบหรือมีส่วนได้เสียเข้ามาในคดี 

-หรือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงแก่ความตาย 

-กรณีที่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นมีข้อสังเกตหรือเห็นสมควรให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น 

-หรือ กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  

และกรณีที่มีเหตุพิเศษอื่นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ เช่น มีภัยธรรมชาติ หรือ มีเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณา อันอาจทำให้ไม่สามารถจัดทำคดีให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาได้ ให้กำหนดระยะเวลาตามขั้นตอนนั้น ๆ เริ่มนับต่อจากระยะเวลาเดิมเมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีนั้น ๆ เสร็จสิ้นลง หรือ เหตุพิเศษดังกล่าวหมดไป 

สำหรับคดีที่ยื่นฟ้องก่อนวันที่ 23 มกราคม 2566  หากคดีนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในขั้นตอนใด ให้เริ่มต้นนับระยะเวลาในขั้นตอนนั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม เป็นต้นไปเช่นกัน