ศึกรถไฟฟ้า2สายระอุ คดีว่อนศาลปกครอง               

19 ม.ค. 2566 | 00:30 น.

มหากาพย์ 2 รถไฟฟ้า สายสีส้ม -สายสีเขียว  คดีว่อนศาลปกครอง  บีทีเอสเจอ ศึกรอบด้าน กทม.-เคที-รฟม. ฟ้องกันนัวเนีย “ศักดิ์สยาม” ยันรอศาลถึงที่สุด

 

ศึก สองรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเขียว กลายเป็นปมยุ่งอีรุงตุงนัง ต่อสู้กันในศาลปกครอง ระหว่างเอกชนและรัฐ แม้จะเป็นคดีความที่แตกต่างกันแต่ผู้ที่รับผลกระทบกลับกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี 

ประเด็นแรก การประมูลสายสีส้มที่ บีทีเอสซีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ภาครัฐในคดี รื้อเกณฑ์ทีโออาร์ และคำสั่งล้มประมูล รอบแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ รอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ในเร็ววันนี้ หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นฝ่ายยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี

เช่นเดียวกับสายสีเขียวที่มีปมใหญ่ ไม่แพ้กัน บีทีเอสซี ในฐานะผู้รับจ้างเดินรถในส่วนต่อขยาย ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดหรือเคทีซึ่งเป็นบริษัทลูกของกทม. เบี้ยวจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถ ซึ่งศาลปกครองกลาง ชี้ขาดว่า

กทม.และเคทีเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องจ่ายหนี้ เป็นเงิน 10,600 ล้านบาทให้กับ บีทีเอสซี เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลบีทีเอสซีจึงยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นคดีที่สองเพื่อให้เคทีจ่ายหนี้ค่าเดินรถ

 

 

ขณะเคทีได้ยื่นหักล้างต่อศาลปกครอง โดยรายงานข่าวเคทีระบุว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (บอร์ดเคที) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของเคที เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่งบีทีเอสซีเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้ ค่าเดินรถ โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของเคที ไปให้ บีทีเอสซี ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุผลหักล้างกันต่อไปว่าสัญญาที่ทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่งผลให้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี ต้องออกมาชี้แจง ว่าที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างและการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น

ศึกรถไฟฟ้า2สายระอุ คดีว่อนศาลปกครอง                

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น การเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายของบริษัทฯ จึงเป็นไปโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งมีผลทำให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีกระบวนการของภาครัฐที่ดำเนินการก่อนเกิดการทำสัญญาสายสีเขียวร่วมกันนั้น บริษัทเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าตามปกติแล้วกทม.และเคทีจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ รวมทั้งข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและถูกต้องแล้ว

จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อความเห็นของเคทีว่า หากเคทีได้ตรวจสอบและเชื่อโดยสุจริตตามความเห็นดังกล่าว เหตุใดยังคงยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้

ส่วนความคืบหน้าคดีสายสีส้ม รายงานข่าวจาก บีทีเอสซี กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันบริษัทได้มีการฟ้องร้องคดีทั้งหมด 4 คดี ประกอบด้วย

1.คดีที่รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล สายสีส้ม ครั้งที่ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจากศาลปกครองสูงสุด

2. คดีที่รฟม.ยกเลิกการประมูลสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของศาลปกครอง

3. คดีการประมูล สายสีส้มครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและกีดกันการแข่งขันในการประมูลโครงการฯซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น

ส่วนอีก 1 คดี ที่อยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีที่รฟม.กีดกันการแข่งขันในการประมูลสายสีส้ม รอบ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลฯอุทธรณ์ในคดีนี้ โดยกำหนดให้ทั้งรฟม.และบริษัทยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

ปัจจุบันได้มีการขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปแล้ว 2 ครั้ง ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลอาญาฯ คาดว่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯภายในเร็วๆนี้

"กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาชี้ขาดคดีสายสีส้มในวันพรุ่งนี้ (18 ม.ค.นี้) ทางบริษัทยังไม่ทราบในเรื่องนี้ คาดว่าศาลฯจะมีคำพิพากษาออกมาภายในปีนี้"

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีประมูลสายสีส้ม ครั้งที่ 2 โดยมี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลว่า ขณะนี้รฟม.ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าใด ๆ มาให้รับทราบ ปัจจุบันต้องรอศาลปกครองตัดสินให้ถึงที่สุด แล้วจึงดำเนินการต่อได้

“อย่าไปฟังคนอื่น แม้ว่าคนอื่นจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ หากจะดำเนินการอะไร จะต้องยึดระเบียบกฎหมาย, มติครม.และหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญโดยไม่มีการทำอะไรที่ผิดจากเรื่องเหล่านี้”

ส่วนความเคลื่อนไหวของรฟม. ล่าสุดเตรียมรายงานร่างสัญญาดังกล่าวไปยังบอร์ดรฟม. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อลงนามสัญญาร่วมกับเอกชน แต่เบื้องต้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงนามตามกรอบกำหนดในเดือนมกราคมนี้หรือไม่เนื่องจากต้องรอคำสั่งศาลปกครอง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม