ปัญหาฮุบที่ดิน ส.ป.ก.ต้องแก้ด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้ อปท.ดำเนินการแทน

21 ธ.ค. 2565 | 11:19 น.

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ชี้ปัญหาการฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้ อปท. ดำเนินการแทน

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ปัญหาการฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน”


ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าว ว่ามีกลุ่มบุคคลทำงานในบริษัทตลาดหลักทรัพย์บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่ดิน ส.ป.ก.พื้นที่ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอหมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เนื้อที่มากกว่า 1,000 ไร่ เป็นที่ดินที่ล้อมรอบภูเขาทั้งลูก ถือเป็นความล้มเหลวในการบริหารและการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.ที่เป็นรูปแบบ “รัฐรวมศูนย์” 


ทั้งที่คุณสมบัติผู้จะได้สิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก.จะต้องเป็นเกษตรกร ต้องดูถึงความสามารถในการเข้าทำประโยชน์โดยดูถึงสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ หรือไม่มีรายได้ประจำอื่นเป็นหลัก เช่น รับราชการ พนักงานเอกชนมีประกันสังคม มีรายการเสียภาษี หรือได้รับเงินเดือนประจำ 


ผู้ที่จะรู้คุณสมบัติดังกล่าวดีที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก. หากย้อนไปนับตั้งแต่ที่มีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน ประเทศมีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมดราว 40,134,230 ไร่ โดยในจำนวนนี้ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วจำนวน 36,182,056 ไร่ 


แต่พบว่ายังเกิดปัญหาสั่งสมต่อเนื่อง ทั้งการทับซ้อนแนวเขตระหว่างหน่วยงาน การประกาศครอบคลุมทั้งอำเภอที่กระทบต่อการออกเอกสารสิทธิของประชาชน ข้อพิพาทระหว่างผู้ถือครองและทำประโยชน์ การครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ที่ขอแยกได้ 4 ประการ คือ


ประการแรก ปัญหาพบว่ามีการบุกรุกครอบครอง หรือการฮุบที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ใช้วิธีการส่งนอมินีเข้าไปครอบครองที่ดิน โดยมีข้าราชการทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมมือกันทำผิด

 

คาดการณ์ว่าทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ที่ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ขาดคุณสมบัติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ สปก และผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหรือไม่บังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีเกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย


ประการสอง ปัญหาข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ไม่มีชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ จึงทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ ไม่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง เสี่ยงต่อการถูกยึดที่ดินคืนและคดีความ 


ประการสาม ปัญหาการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินแปลงใหญ่ทับทั้งอำเภอ จำนวน 122 อำเภอ ในพื้นที่ 21 จังหวัด ส่งผลให้ประชาชนที่ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิมที่มีสิทธิในการขอออกเอกสารสิทธิที่ดินประเภทโฉนดไม่สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิอันพึงได้ ในกรณีที่พบว่าเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับแนวเขตป่า ส่งผลประชาชนที่เข้าทำประโยชน์อยู่ไม่สามารถดำเนินการขอรับรองสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ได้ ซึ่งกระทบสิทธิอันพึงได้ในที่ดินดังกล่าว


ประการสี่ ปัญหาการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการหรือการส่งเสริมศักยภาพชุมชนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ไม่สามารถดำเนินการมากกว่าประเด็นการประกาศแนวเขตที่ดิน อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันครัวเรือนเกษตร การแก้ปัญหาหนี้สิน การยกระดับวิถีเกษตรที่เหมาะสมและยั่งยืนตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน


ข้อเสนอเร่งด่วนรัฐต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหามีมาตรการให้เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่ง จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยมิชอบและมีเอกสาร ส.ป.ก.เท็จ น่าจะผิดต่อ ก.ม.หลายลักษณะ เช่น 


1.เป็น จพง.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต


2.มาตรา 54, 72 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้


3.ส่วนประชาชนผู้ครอบครองและผู้บงการ ใช้ จ้าง ว่านมีความผิดฐานผู้ใช้หรือสนับสนุน จพง.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


4.มาตรา 9, 108, 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน


5. เป็นผู้ใช้หรือตัวการร่วมแบ่งหน้าที่กันทำ ฐาน แจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ


ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก.เสนอให้เปลี่ยนแปลงจาก ส่วนรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีหน้าที่และอำนาจ หรือเรียกว่า “รัฐราชการรวมศูนย์ “ ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่น และชุมชนเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจแทน

 

ส่วนสำนักงาน ส.ป.ก.ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลระดับกรม ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวม(Regulator) ที่เป็นมาตรฐานหลักเกณฑ์ในฐานะผู้รักษาพระราชบัญญัติให้ “องค์กรปกครองท้องถิ่น” เป็นเจ้าภาพหลักแก้ปัญหา ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการในกิจการ(Operator) ของ ส.ป.ก. จะทำให้ปัญหาการ “ฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หมดไปสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสี่ประการที่กล่าวข้างตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 


เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างจะเป็นผู้รู้ดีว่า ใครเป็นเกษตรกร และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ท้องถิ่นต้องตรวจสอบสิทธิของผู้ได้รับ ส.ป.ก. ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลผู้ถือครองจริง ในปัจจุบัน ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรตามคุณสมบัติหรือไม่ 


หากเป็นผู้ที่ผิดคุณสมบัติตามระเบียบกฎหมาย ต้องเร่งดำเนินการเพิกถอนสิทธิและจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติต่อไป เชื่อว่าจะสามารถคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ขาดคุณสมบัติ จัดสรรให้เกษตรกรมากกว่าล้านไร่

 

และกรณีแปลงที่ดินที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนหรือชุมชนใดได้อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ มาก่อนการถูกประกาศเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตที่ดินอื่นของรัฐ ให้กันแนวเขตที่ดินดังกล่าวออกและดำเนินการ ออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชน 


ในด้านนโยบายที่ดิน ส.ป.ก.นั้น ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องยึดมั่นหลักการเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม แม้ในข้อเท็จจริงจะพบว่า บางกรณีมีการเปลี่ยนแปลงในสภาพที่ดิน หรือ ลักษณะการใช้ประโยชน์ แต่การพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ส.ป.ก.นั้น ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์เชิงสหวิชาการอย่างรอบด้าน 


เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของประเทศที่สัมพันธ์โดยตรงกับการจัดการที่ดิน ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยใช้ลักษณะของญี่ปุ่นมาเป็นตัวตั้งนั่น คือ เน้นที่พื้นที่ต้องทำการเกษตร ส่วนใครจะมาทำการเกษตรนั้นควรจะเปิดกว้างได้อย่างมีเงื่อนไขครับ