ปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ระวังจะถูกรื้อถอน

27 พ.ย. 2565 | 02:30 น.

ปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ระวังจะถูกรื้อถอน : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,839

 

หากใครคิดจะปลูกสร้างอะไร ยื่นลงไปในทะเลหรือแม่น้ำแล้วละก็ ... อย่าคิดว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ นะครับ เพราะหากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว ... เจ้าท่าซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบย่อมมีอำนาจตามกฎหมาย ที่จะสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือ ที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องนั้นภายหลังได้ ไม่ว่าจะสร้างไว้นานเพียงใดก็ตาม เช่นเดียวกับคดีที่นำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ครับ ... 

 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างประเภทลานอเนกประสงค์ ซึ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลงไปในทะเล ตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ. 2535 (พื้นที่ล่วงล้ำ 147.60 ตารางเมตร) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456  

 

ต่อมา เมื่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นแบบแจ้งการฝ่าฝืนการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา เพื่อให้ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีก็ได้ขอให้เจ้าท่าพิจารณาอนุญาตสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย 

 

แต่เรื่องไม่เป็นไปดังที่คิดไว้ ... เพราะเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถอนุญาตสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีได้ และมีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนภายในเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ! 



ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ลานอเนกประสงค์ที่พิพาทเป็นสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งประกอบอาชีพประมง เป็นการปลูกสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัยตามวิถีชาวบ้านมากว่า 100 ปี โดยต่อมามีการปรับปรุงต่อเติมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้ล่วงล้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากเดิม และไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือ ก่อให้เกิดอันตรายหรือกีดขวางการเดินเรือแต่อย่างใด

 

จึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอน หรือ แก้ไขคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว


คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด


คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าท่า มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อลานอเนกประสงค์ของผู้ฟ้องคดียื่นล่วงล้ำลงไปในทะเล อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456

 

แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 18 มกราคม 2515 ที่ห้ามมิให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า  


ทั้งนี้ การที่เจ้าท่าจะพิจารณาอนุญาตให้มีการปลูกสร้างสิ่งใดล่วงล้ำลำแม่น้ำได้หรือไม่นั้น  ต้องเป็นไปตามข้อ 5 ของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือ สิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ทั้งสิ้น 4 ประการ คือ 


(1) สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่มีลักษณะ หรือ สภาพที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือ ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 


(2) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำ ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรตามวัตถุประสงค์ 


(3) การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือ กฎหมายว่าด้วยการประมง 


และ (4) สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องมีสภาพเหมาะสมและปลอดภัยในการใช้งาน 

                                    ปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ระวังจะถูกรื้อถอน


ฉะนั้น สิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งยื่นลงไปในทะเล จึงมีลักษณะ หรือ สภาพที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมิใช่สิ่งปลูกสร้างสำหรับพักอาศัย ตามความจำเป็น หรือ เพื่อประกอบอาชีพในภาคการเกษตรตามวิถีชุมชนดั้งเดิมดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง 


หากแต่มีลักษณะสำหรับให้บริการบุคคลภายนอก อันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทะเล ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาเป็นประโยชน์ส่วนตน ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็มีบ้านติดทะเลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างลานอเนกประสงค์ ยื่นออกมานอกเขตกรรมสิทธิ์และล่วงล้ำเข้าไปในทะเลอีก 


กรณีจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มุ่งบรรเทาผลกระทบต่อการประกอบอาชีพในภาคการเกษตร และการอยู่อาศัยของประชาชนริมน้ำซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม รวมทั้งไม่เข้าลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้

 

การอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างลานอเนกประสงค์ดังกล่าว ย่อมเป็นการเกินกว่าความจำเป็นและสมควรตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ 5 (2) ของประกาศกระทรวงคมนาคมข้างต้น  


เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้ คำสั่งของเจ้าท่าที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท และ คำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อส. 91/2565)  

 

จึงเป็นบทสรุปที่ว่า ... การปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำหรือทะเล อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แม้จะมีการแจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงการฝ่าฝืนดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ก็มีผลเพียงให้ได้รับการยกเว้นโทษเท่านั้น 


แต่มิได้มีผลเป็นการลบล้างการกระทำ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำแต่อย่างใด เพราะกฎหมายดังกล่าวต้องการให้โอกาสเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาเสียก่อนว่า สามารถอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้หรือไม่ แทนที่จะต้องถูกสั่งบังคับให้รื้อถอนทันที 


เมื่อเจ้าท่าพิจารณาแล้วว่า สิ่งปลูกสร้างนั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับอนุญาต จึงย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำ หรือ ทะเลออกไปภายในเวลาที่กำหนดได้ ... นั่นเองครับ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 )