ฟ้องโต้แย้งค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน

12 พ.ย. 2565 | 03:30 น.

ฟ้องโต้แย้งค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3834

สำหรับผู้เดินทางที่มีภารกิจเร่งด่วนหรือต้องการเดินทางให้ไปถึงที่หมายโดยเร็วที่สุด ก็ต้องเลือกใช้บริการการโดยสารด้วยเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นวิธีการเดินทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้ว การซื้อตั๋วเครื่องบินในยุคนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องง่าย สามารถจองได้ ทั้งคอลเซ็นเตอร์ และผ่านทางระบบออนไลน์ แถมราคาในบางช่วงอาจถูกกว่าการเดินทางด้วยรถไฟ รถทัวร์ หรือ รถยนต์ส่วนตัวอีกด้วย 


แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ... การโดยสารเครื่องบินไม่ว่าจะภายในประเทศหรือต่างประเทศ นอกจากค่าตั๋วโดยสารแล้ว ผู้โดยสารยังต้องมีภาระค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องชำระเพิ่มเติม จากที่ได้ตั๋วราคาถูก ... รวมแล้วก็อาจไม่ถูกอย่างที่คิด

สำหรับคดีที่จะคุยกันในคอลัมน์รายงานพิเศษนี้ ... ก็เป็นเรื่องของผู้โดยสารเครื่องบินภายในประเทศของสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกหรือค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้โดยสาร ที่เดินทางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

เนื่องจากไม่มีอำนาจเรียกเก็บ เพราะข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนว่าด้วยค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารออกจากสนามบิน ได้ถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ 
 

เรื่องนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินดังกล่าว จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไปติดตามคำตอบกันครับ ... 


ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม (นายเอ นายบี และนายซี) ได้โดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานอุบลราชธานี ไปที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยสายการบิน A ซึ่งได้จำหน่ายบัตรโดยสารพร้อมเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก จากผู้ฟ้องคดีทั้งสามในอัตราคนละ 50 บาท แทนกรมท่าอากาศยาน ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้จองบัตรโดยสารผ่านทางระบบออนไลน์และชำระเงินค่าบริการผู้โดยสารขาออกแล้ว  

แต่เห็นว่า การที่กรมท่าอากาศยานเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้กรมท่าอากาศยาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งให้งดเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารขาออก

 

โดยคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่เห็นด้วย
จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

 

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่กรมท่าอากาศยานจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกจากผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เป็นการกระทำละเมิดที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือไม่ ?

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ เดิมเรียกว่าค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินนั้น ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการจากเดิม ที่ให้สนามบินจัดเก็บได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

เป็นให้สนามบินเรียกเก็บได้เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ในมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตจะเรียกเก็บเงินเพื่อการใช้สนามบินที่ให้บริการแก่สาธารณะไม่ได้ 


เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น เช่น ให้สามารถเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกได้ตามมาตรา 60/37 เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เกี่ยวกับความปลอดภัย และการบำรุงรักษาสนามบิน หรือจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินสำหรับผู้โดยสาร ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม (วรรคหนึ่ง) ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการบินพลเรือนก่อน (วรรคสอง) 

 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ดังกล่าว ได้มีบทเฉพาะกาลซึ่งกำหนดให้สนามบินอนุญาตที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกได้ โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีตามมาตรา 60/37 วรรคสอง

                               ฟ้องโต้แย้งค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน

รวมทั้งให้กฎกระทรวง ระเบียบหรือข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องนั้น ๆ ออกมาใช้บังคับ 

 

เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้โดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานอุบลราชธานี ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง และได้ชำระเงินค่าบริการผู้โดยสารขาออกดังกล่าวแล้ว อันเป็นกรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ใช้ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสนามบินอนุญาตที่ให้บริการสาธารณะในการเดินทางภายในประเทศ

 

ท่าอากาศยานจึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกได้ตาม มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 60/37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และจัดเก็บได้ในอัตราคนละครั้งละไม่เกิน 50 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บอยู่ในขณะที่พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ 

 

ดังนั้น การจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกจากผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เป็นเงินคนละ 50 บาท จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนว่าด้วยค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

 

ศาลเห็นว่า เมื่อกรมท่าอากาศยานมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก ในอัตราตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับที่ 66 ที่เคยจัดเก็บมาก่อนพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ประกาศใช้บังคับ กรมท่าอากาศยานย่อมสามารถเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกในอัตราดังกล่าวต่อไปได้ (ตามที่กำหนดในบทเฉพาะกาล) จนกว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าบริการผู้โดยสารขาออก

 

ในกรณีที่มีการปรับเพิ่มค่าบริการดังกล่าว กรมท่าอากาศยานจะต้องดำเนินการขออนุมัติจากรัฐมนตรีตามมาตรา 60/37 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเสียก่อน  ฉะนั้น แม้ข้อบังคับฉบับที่ 66 จะถูกยกเลิกไปก็ไม่มีผลทำให้กรมท่าอากาศยานเสียสิทธิในการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 130-132/2564) 

 

จึงสรุปได้ว่า... ในการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ซึ่งให้สนามบินเรียกเก็บได้เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้สนามบินอนุญาตที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกได้ตามเดิม โดยให้ถือว่าได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว  

 

ฉะนั้น กรณีตามที่พิพาทซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล กรมท่าอากาศยานจึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออกได้ โดยไม่จำต้องได้รับอนุมติจากรัฐมนตรี จนกว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าบริการ ซึ่งต้องดำเนินการขออนุมัติจากรัฐมนตรีก่อนที่จะทำการจัดเก็บตามอัตราใหม่ได้

 
จากอุทาหรณ์คดีนี้ จึงมีข้อพึงระวังในการศึกษากฎหมายที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงว่า ... จำเป็นต้องพิจารณา “บทเฉพาะกาล” ในกฎหมายด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า หมายถึง “บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับบทกฎหมายนั้น”

 

บทเฉพาะกาลจึงเป็นการเชื่อมต่อของการบังคับใช้ระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่ ในช่วงระยะเริ่มแรก ... ดังเช่นในคดีพิพาทข้างต้นนี้ นั่นเองครับ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)