“สมคิด” แนะ 3 ข้อกระชับจีน ชี้ถึงเวลาโปรยเสน่ห์ดึง "ชาติมหาอำนาจ"

14 พ.ย. 2565 | 07:50 น.

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แนะ 3 ข้อกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน ชี้ถึงเวลาโปรยเสน่ห์ดึงชาติมหาอำนาจ พร้อมแนะนำทางออกหากไทยต้องเลือกข้างบนเวทีโลก ต้องทำยังไง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย และ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง เรื่อง ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ในงานพบปะนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน ว่า ในช่วงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย - แปซิฟิก (APEC 2022) รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำ หรือแกนกลางของอาเซียน เพื่อให้ชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนมองเห็นถึงความสำคัญ

 

"ช่วงการประชุม APEC 2022 กระทรวงการต่างประเทศ ควรต้องคิด อะไรบางอย่างให้นายกรัฐมนตรี สื่อสารและส่งสัญญาณออกไปว่าไทยจะไม่ตกรุ่น ถ้าไทยไม่คิด ไคลแมกซ์ทุกอย่างจะไปอยู่ที่ประชุมสุดยอด G20 ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย แล้วการประชุม APEC 2022 ที่ไทยจะกลายเป็นที่กินข้าวเย็นของผู้นำเท่านั้น" นายสมคิด ระบุ

 

ทั้งนี้ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา 10-20 ปีก่อน ประเทศไทย และสิงคโปร์ ถือเป็น 2 ชาติ ที่เป็นผู้นำอาเซียนในสายตาของโลก แต่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนามกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ และจะขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนแทน 

ดังนั้นถ้าหากประเทศไทยไม่ทำอะไร จะทำให้ไทยหลุดจากแกนนำ และแกนกลางของอาเซียน และในอนาคตจะไม่มีความหมายในสายตาของชาติมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา

 

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทยต้องสร้างความสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจของโลก เพราะปัจจุบันไทยมีไพ่ 3 ใบ ที่ต้องสร้างสมดุลและผูกความสำคัญให้กระชับทั้ง 3 ชาติ คือ ด้านเศรษฐกิจ กับประเทศญี่ปุ่น ด้านการเมือง กับสหรัฐอเมริกา และด้านการสร้างอนาคต กับจีน โดยจำเป็นต้องผูกเอาไว้ แต่หากต้องเลือกข้างก็ควรใช้กรอบความเป็นอาเซียนเป็นมติแทน

 

ทั้งนี้ยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน มีความสำคัญอย่างยิ่งกับอนาคตของไทย ซึ่งไทยควรทำตัวให้ดึงดูดว่ามีอะไรดี เพราะถ้าไม่สร้างอนาคนไทยอาจจะหายไปจากสายตาของชาติมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะจีนที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจของโลกใหม่ เทียบเคียงสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่ไทยจำเป็นต้องกระชับความสัมพันธ์กับจีนเอาไว้ มี้ด้วยกันดังนี้

  1. ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ไม่ให้บกพร่อง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งปัจจุบันไทย-จีน อยู่ในจุดที่ดีที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ 
  2. การสานต่อ One Belt One Road (OBOR) หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ให้เสร็จสิ้น โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม
  3. การกลับมาฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment, and Economic Cooperation-JC) ให้กลับมาอย่างแข็งแรง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือรับอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นเทคโนโลยี