รัฐมนตรี “วราวุธ ศิลปอาชา”สั่งยกระดับป้องกันไฟป่าปี 2566

09 พ.ย. 2565 | 14:33 น.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผนึกกำลังทุกภาคส่วนยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรี “วราวุธ ศิลปอาชา”สั่งยกระดับป้องกันไฟป่าปี 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 76 จังหวัด เข้าร่วมรับฟังนโยบาย

 

โดย คพ. ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงจำนวนจุดความร้อนของประเทศไทย 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงถึง 80%

นายวราวุธ กล่าวว่า การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 สถานการณ์อาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ

รัฐมนตรี “วราวุธ ศิลปอาชา”สั่งยกระดับป้องกันไฟป่าปี 2566

สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฎการณ์ “ลานีญา” จะเริ่มน้อยลง

รัฐมนตรี “วราวุธ ศิลปอาชา”สั่งยกระดับป้องกันไฟป่าปี 2566

หรือมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ยังคงมีปริมาณเท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้จะมีความกดอากาศ อากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ปริมาณฝุ่นไม่สามารถระบายออกได้เกิดการสะสมของฝุ่นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองหลักเกิดจากการจราจรและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

 

สำหรับมาตรการรับมือในปี 2566 ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าน้ำมันจัดจำหน่ายน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ผู้ประกอบการยานยนต์จัดกิจกรรมตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในราคาพิเศษ และเข้มงวดกับการตรวจควันดำรถยนต์ของหน่วยงานราชการที่เข้มข้นกว่ารถทั่วไป

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ การประเมินจำนวนจุดความร้อนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนจุดความร้อนลดลงไปกว่า 80% ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น

 

จึงขอให้เร่งจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผา เร่งดำเนินโครงการชิงเก็บ ลดเผา เปลี่ยนเชื้อเพลิงเหล่านั้นให้มาเป็นเชื้อเพลิง RDF หรือเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงและการเกิดไฟป่า ส่วนพื้นที่การเกษตร ให้มีการเคาะประตูบ้านเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผาเพื่อไม่ให้มีการเผา และการรับมือหมอกควันข้ามแดน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศไทย

 

สิ่งที่ทางประเทศไทยจะดำเนินการคือการส่งเอกสารไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังขอฝากแนวทางให้ภาคราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จนอาจสร้างความตื่นตระหนก หรือแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการระบาย 

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

 

อีกทั้งได้มีการยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานในทุกปี โดยการจัดทำเป็นแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566

 

สำหรับในปีนี้ มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่  พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และ พื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้

 

1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่

 

2.ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)

4.กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

 

5.ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)

 

6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

7.ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง