มติสภา ไฟเขียว พ.ร.ก.กู้เงินอุ้มกองทุนน้ำมัน

09 พ.ย. 2565 | 09:55 น.

สภาไฟเขียว พ.ร.ก.กู้เงินอุ้มกองทุนน้ำมัน ด้วยคะแนน 239 ต่อ 166 เสียง ให้ คลัง ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน "สุพัฒนพงษ์" ย้ำ ความจำเป็น แจง พิษโควิด-สงคราม ทำกองทุนติดลบ

9 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ผ่อนผันให้ กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมได้มีมติ เห็นด้วย 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียยง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง 

 

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวรายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์ น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุน เพื่อเข้าช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของประชาชน

 

จนปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1.3 แสนล้านบาทซึ่งยังคงอุดหนุนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากนัก โดยควบคุมราคาน้ำมันไว้ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร หากไม่อุดหนุนจะอยู่ที่ 38-39 บาทต่อลิตร และควบคุมราคาแก๊สหุงต้มไม่เกิน 400 บาท หากไม่อุดหนุนก็จะอยู่ที่ 592 บาท นอกจากนี้ยังมีสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้เกิดวิฤติซ้อนวิกฤติ และปัจจุบันสถานการณ์โลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้สถานการณ์ติดลบไปเรื่อยๆ

 

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กองทุนน้ำมันยังต้องรักษาเสถียรภาพในระดับราคาที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินที่จะอนุมัติเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมัน เพื่อเสริมสภาพคล่องและให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว ขณะที่แผนชำระหนี้นั้น ทางกองทุนน้ำมันก็ได้วางแนวทางไว้แล้ว

ทั้งนี้ มีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางซึ่งส่วนใหญ่แสดงความกังวลในเรื่องการหาเงินมาชำระหนี้กองทุนน้ำมันเพราะยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาพลังงานจะลดลงมา และอาจจะกระทบต่อวินัยการเงินคลังของประเทศได้

 

โดย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กรณีที่รัฐบาลขอให้ประชาชนค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีวงเงินถึง 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องชี้แจงรายละเอียดว่า กู้แล้วจะนำเงินไปทำอะไร นำเงินจากไหนมาใช้หนี้ และจะใช้หนี้กี่ปี แต่ไม่พบถึงกรระบุถึงแผนการกู้ การใช้เงิน และแผนการใช้หนี้  ตนทราบว่า ไม่มีที่ไหนยอมให้กู้ เพราะสภาพคล่องมีปัญหา ดังนั้นจึงต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนจำนวนมหาศาล และจะกระทบประชาชน ที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงมากขึ้นหรือไม่

 

ด้านนายพิสิษฐ์ ลี้อาธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่รีบดำเนินมาตรการการดูแลเรื่องการเงินของกองทุนน้ำมันฯ แทนที่จะมาเสนอสภาฯ และมาใช้เหตุผลว่าเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน คือ ออก พ.ร.ก.

 

เหตุการณ์แบบนี้รัฐบาลประเมินได้อยู่แล้วว่า กองทุนน้ำมันจะติดลบและติดลบจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรเสนอต่อสภาเพื่อระดมความคิดซึ่งสิ่งที่ข้องใจมาก คือ โรงกลั่นและมาตรการนโยบายพลังงานของประเทศไทยที่ไม่มีการดูองค์รวมเพื่อจะให้นำไปสู่การใช้พลังงานที่เหมาะสม

 

และไม่มีภาระทางการเงินอย่างที่เราเห็นตอนนี้ซึ่งค่าการกลั่นสูง 2-3 % ที่จริงไม่ควรจะสูงขนาดนี้ ควรอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท เพราะโรงกลั่นทั้งหมดที่มีอยู่ 6 แห่ง สร้างมานานแล้ว ค่าเสื่อมราคาน่าจะตัดไปเกือบหมดแล้วไม่ควรจะมาใช้เหตุผลแบบเดิมๆอีก จึงควรจะต้องลดค่าใช้จ่ายนี้ และกระทรวงพลังงานก็น่าจะไปดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องระบบต่างๆ

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ชี้แจงที่ประชุมว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบในร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ฯ และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 เหตุผลเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลง

 

ในประเด็นของกองทุนน้ำมัน มีหลักการ คือ เพิ่มเสถียรภาพกองทุนน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่ติดลบช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ไม่ต้องมีก็ได้แต่ประชาชนคนไทยจะต้องรับภาระตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หรือต้นปี 2565 ราคาน้ำมันอาจจะขึ้น 40 - 50 บาทต่อลิตรก็ได้

 

ถ้ากระทรวงการคลังไม่ช่วยมาสนับสนุน ราคาแอลพีจีอาจจะสูงถึง 525 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม) ก็ได้ แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ส่วนที่แบงค์รัฐไม่ปล่อยกู้นั้นเพราะมีข้อเสนอที่มีความยุ่งยาก และยังต้องมีความจำเป็นต้องไปใช้ช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นสินค้าควบคุมซึ่งต้องไปถามกระทรวงพาณิชย์ด้วย