เปิด"บันได 4 ขั้น"เพื่อไทย "สร้างรายได้ใหม่"ให้ประชาชน

10 ต.ค. 2565 | 05:33 น.

"อุ๊งอิ๊ง -แพทองธาร" นำทีมเปิดนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดโรปแมป"บันได 4 ขั้น" หวังสร้างศักยภาพใหม่-รายได้ใหม่- สังคมใหม่-การเมืองใหม่

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย   พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านการขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

 

เปิดตัวนโยบายพรรค ในงานฟอรั่มนโยบายครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา  โดยนางสาวแพทองธาร ประกาศว่า  ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการด้วยโรดแมป “บันได 4 ขั้น"ประกอบด้วย  

 

บันไดขั้นที่ 1 “เพื่อศักยภาพใหม่” ของประเทศและประชาชนไทย   ประกอบด้วย 

 

1.พัฒนาศักยภาพคนไทยผ่านศูนย์บ่มเพาะที่อยู่ในชุมชน ทักษะต่างๆ เช่น อาหาร แฟชั่น กีฬา การเขียนโปรแกรม และความสามารถทาง E-sport จะถูกถ่ายทอดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมส่งเสริมผลักดันให้ความสามารถนั้นออกไปสู่เวทีใหญ่จนก้าวไปถึงระดับนานาชาติ

 

2.สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยแก้กฎหมายที่ปิดกั้นโอกาส สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้มากพอ และเชื่อมภาคเอกชนเข้ากับภาคประชาชน หรือคือการเชื่อมผู้ผลิตเข้ากับแหล่งวัตถุดิบ จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

 

3.ออกแบบนโยบายต่างประเทศ เน้นการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ใช้การทูตขยายอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ เพราะศักยภาพของทุกคนสามารถสร้างเป็นรายได้อย่างไม่สิ้นสุด

 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย

 

สำหรับบันไดขั้นที่ 2 “เพื่อรายได้ใหม่”  แก้หนี้สินด้วยการเพิ่มพูนรายได้ทวีคูณ ให้เศรษฐกิจประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  ประกอบด้วย 

 

นโยบาย “เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่าย ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Lifelong Earning)  เป็นการสร้าง “แพลตฟอร์ม” จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยในแพลตฟอร์มนี้ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายได้ตลอดเวลา สะสมเครดิตการเรียน และเทียบคุณวุฒิเพื่อไปต่อยอดการทำงานโดยไม่มีวันหมดอายุ และในภาพกว้าง

 

นโยบาย “เขตธุรกิจใหม่” (New Business Zone : NBZ) วันนี้ประเทศไทยถูกตีกรอบ สตาร์ตอัพไร้การสนับสนุน ในสายตานักลงทุนเราเป็นประเทศที่ตามหลังและถูกลืม 3 กับดักคือ กฎหมายในประเทศไทยควบคุมไม่ให้โต กีดกันไม่ให้แข่ง ทั้งกฎหมายที่ดิน กฎหมายการค้า รวมถึงกฎหมายด้านภาษี ทำลายโอกาสการทำธุรกิจ

 

กับดักที่ 2 แต้มต่อ ความพร้อมด้านแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง สิทธิประโยชน์ภาครัฐที่เบาบางไม่ตรงจุด ตลาด 30 ล้านคน มักเทียบกับ 300 ล้านคนของอินโดนีเซียเสมอ และมักถูกเทียบกับเวียดนามในเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเราแพ้ทั้งสองเรื่อง จากแต้มต่อกลายเป็นแต้มตาม และตลาดเล็กและแคบ

 

อีอีซีและบีโอไอ เป็นการแต่งหน้าทาปาก แต่แก่นหลักของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไข การกิโยตีนกฎหมายช้า และทำไม่ได้จริง แต่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนโอกาส ใส่กุญแจ 3 ดอก ใส่ธุรกิจใหม่ เพื่อดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหลเป็นเงินที่สร้างเงิน ด้วยเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และหาดใหญ่

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ในเขตธุรกิจใหม่นี้ พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าสร้างกุญแจ 3 ดอกให้กับประเทศ คือ

กุญแจดอกที่ 1 กฎหมายธุรกิจชุดใหม่ เพื่อปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจในทุกมิติ รวมถึงดึงการลงทุนจากต่างชาติ เข้าแก้ปัญหาทั้งด้านใบอนุญาต แรงงาน นำเข้าส่งออก และการธุรกรรมระหว่างประเทศ กุญแจดอกที่ 2 สิทธิประโยชน์ใหม่ ภาษีจากกำไร ภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีนำเข้า จะได้สิทธิประโยชน์ไม่แพ้ที่ใดในโลก จะเป็นสวรรค์ของนักลงทุน

 

กุญแจดอกที่ 3 ระบบนิเวศใหม่ เพื่อขยายตลาดและระบบนิเวศทางธุรกิจไม่ให้เล็กและแคบอย่างที่เป็นอยู่ โดยการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนใหม่ และระบบธนาคารใหม่ เป็นกองหลังเพื่อผลักกองหน้าซึ่งได้แก่ภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนได้ โดยกุญแจทั้ง 3 ดอกจะถูกสร้างขึ้นในเขตธุรกิจใหม่ และรายได้ใหม่จะถูกสร้างให้กับประชาชน

เปิด"บันได 4 ขั้น"เพื่อไทย "สร้างรายได้ใหม่"ให้ประชาชน

นโยบาย “เงินโอน คนสร้างตัว” (Earn Income Tax : EIT) พรรคเพื่อไทย ต่อสู้กับ “ความจน” เพื่อประชาชนมาอย่างยาวนาน และผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าได้ช่วยลดความยากจนลงได้อย่างต่อเนื่อง เสนอนโยบายแก้ความยากจนผ่านระบบสวัสดิการของรัฐ เรียกว่าเงินโอน คนสร้างตัว

 

โดยสำรวจคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและอยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ โดยให้เงินแบบขั้นบันได ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เพื่อจูงใจให้คนทำงานเพื่อมีรายได้มากขึ้นเมื่อมีรายได้ไปถึงเส้นค่าแรงขั้นต่ำ และเข้าสู่รายได้ใหม่ แตะที่ 12,000 บาทต่อเดือน

 

จากนั้นภาครัฐลดการให้ลง ทั้งนี้เมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้นจะกลับมาเสียภาษีเข้ารัฐ ในวันนั้นจะไม่มีคนไทยอยู่ใต้เส้นความยากจนใต้เส้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการทำให้ประชาชนแข็งแกร่ง รัฐก็เข้มแข็งตามมา เรื่องนี้ต่างประเทศทำแล้วลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

 

นโยบาย “ผ่าตัดเกษตรกรรม” รดน้ำที่ราก สร้างเงินจากดิน พลิกเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรให้หายจนอย่างถาวร ว่า ประเทศไทยติดหล่ม การเกษตรไทยตกหลุม เพราะเกาไม่ถูกที่คัน จึงทำให้การเกษตรไทยอยู่ในวงเวียนวัฏจักรแบบเดิมๆ คือเจ็บและจน

 

ดังนั้นการเกษตรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ด้วยหลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ คือผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต พร้อมหาโอกาสใหม่ๆ เช่น ใช้ความรู้สมัยใหม่เพิ่มผลผลิตจากพืชที่ปลูกอยู่แล้ว อาทิ ข้าว และยาง ผลิต “พืชอาหารสัตว์” อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อทดแทนการนำเข้า และขยายการส่งออก ด้วยโครงการโคขุนเงินล้าน

 

สำหรับการบรรเทาทุกข์ระยะเร่งด่วน นโยบายพักหนี้เกษตรกร พร้อมๆ กับการสร้างรายได้จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

 

โครงการบำนาญเกษตรกร ซึ่งจะทำเพื่อดูแลเกษตรกรรุ่นบุกเบิกและดึงดูดเกษตรกรรุ่นใหม่ เปลี่ยนเงินให้เปล่าเป็นต้นทุนสร้างชีวิตผลิตรายได้ให้เกษตรไทยอย่างยั่งยืน โดยมีหลักทำงานคือ ดินนำ น้ำดี มีต้นพันธุ์ ยืนยันราคา จัดหาแหล่งทุน สนับสนุนกรรมสิทธิ์ มีเป้าเปลี่ยนผืนแผ่นดินเดิมจากที่เคยสร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปีเพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี ประชาชนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์


บันไดขั้นที่ 3 “เพื่อสังคมใหม่” ความมั่นคงคือความปลอดภัยของทุกคนอย่างเท่าเทียม


และบันไดขั้นที่ 4 “เพื่อการเมืองใหม่” ที่หลักนิติรัฐนิติธรรมเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชน วุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐของราชการต้องถูกเปลี่ยนเป็นรัฐของประชาชนอย่างแท้จริง