“ศรีสุวรรณ”ยื่น ปปช. สอย“ณัฐชา”ผิดจริยธรรม เชิญ“ธนาธร”บรรยายเลิก ม.112

06 ต.ค. 2565 | 04:43 น.

“ศรีสุวรรณ” ยื่น ป.ป.ช. สอบจริยธรรมร้ายแรง “ณัฐชา ก้าวไกล” ปมจัดสัมมนาสอดใส้ เชิญ “ธนาธร” บรรยายปมยกเลิก ม.112


วันที่ 6 ต.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวน และเอาผิดนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.บางขุนเทียน กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้อยแรง 

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจาก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ และคณะ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งของไทย” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมาที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี จัดส่งผู้แทนนักเรียน สภานักเรียน และอาจารย์ จำนวนสถานศึกษาละ 7 คน มาร่วมงาน

 

แต่กลับมีการสอดไส้ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า และตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 อยู่ นอกจากนั้นนายธนาธร ยังเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ม.106(6) ประกอบมาตรา 98(3) และสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.92 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบ ม.72 มาแล้ว

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า การที่นายณัฐชา ในฐานะที่เป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวม ส.ส.จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมารวมอยู่ที่เดียวกันในพรรคใหม่ในนามพรรคก้าวไกล และในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ได้เชิญให้นายธนาธร ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ม.112 มาบรรยายอันมีลักษณะการโน้มน้าวให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112

 

อาจถือได้ว่า เป็นการส่อเจตนาที่จะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ต้องห้ามตาม ม.92(1) ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้อยแรง ตามมาตรฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดกว่า 9 ข้อด้วยกัน


“สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ม.234(1) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ม.28(1) เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวนและเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป

 

อันเป็นการสอดคล้องกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และควบคุมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ”