7 อรหันต์“คณะพิเศษ” ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่”

10 ก.ย. 2565 | 02:09 น.

7 อรหันต์“คณะพิเศษ”ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3817

ผู้คนที่กำลังติดตามเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างสับสนข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ที่ออกมาหลายมิติ และต่างลุ้นว่าข้อต่อสู้ข้อพิสูจน์ของ นายกฯลุงตู่ จะหักล้างข้อกล่าวหาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ได้หรือไม่


ผมพยายามที่จะอธิบายต่างกรรมต่างวาระให้ผู้อ่านได้เข้าใจมาหลายระลอก แต่ยังมีคนตั้งคำถามมาว่าเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี ที่หลุดออกมาของนายกฯ นั้น มีควมหมายอย่างไรบ้าง   

จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้อธิบายให้เข้าใจภาพ แค่ 7-8 ประเด็น ดังนี้..

 

ประเด็นแรก ในเอกสารข้อชี้แจง ข้อต่อสู้ของนายกฯ ประยุทธ์ มี “ข้อมูลสำคัญ” ที่ไม่เคยเปิดเผยออกมาก่อน คือ มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ขึ้นมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 เพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
 

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษชุดนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งล้วนเคย เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ประกอบด้วย 

                                  7 อรหันต์“คณะพิเศษ” ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่”

1. นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน และคณะกรรมการบริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน สำนักงานจัดการทรัพย์สินสภากาชาดไทย 

 

2.นายนรชิต สิงหเสนี สมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก ประธานกรรมการตรวจสอบและประเมินผล ประจำกระทรวงการต่างประเทศ

 

3. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย  

 

4.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด 

 

5.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติคนเดียวที่เป็นพลเรือน อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ (รัฐธรรมนูญปี 2534 -รัฐธรรมนูญปี 2560)

 

6. นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตประธาน ก.ล.ต. และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

 

7.นายอุดม รัฐอมฤต ศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ 7 คน นี่แหละคือ “หลังพิง” ของการต่อสู้ข้อกฎหมายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่อง 8 ปี


คราวนี้มาดูข้อต่อสู้ ...คำชี้แจง ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีรายละเอียดสำคัญสุดคือการยกคำชี้แจงว่า.... 

                               7 อรหันต์“คณะพิเศษ” ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่”

“การกำหนดห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้น โดยแจ้งชัดมิได้”
  

โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง ขอย้ำ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!

 

แล้วการกำหนดห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด เป็นอย่างไร?  

 

ทีมกฎหมายและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่มีความเห็นตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับมาก เรื่อง การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่องเสร็จที่ ๑๕๐/๒๕๖๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เป็นข้อต่อสู้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

ความเห็นของ 7 อรหันต์ ในองค์คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ความว่า.... 

 

หนึ่ง... หลักเกณฑ์การห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  
  

ดังนั้น ในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องใช้หลักการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด และเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา ๑๕๘ และมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยเฉพาะช่วงท้ายของบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ที่บัญญัติระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปีนั้น ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่คณะรัฐมนตรี (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี) อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง 
 

สอง...ดังนั้น การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ห้ามเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ก็ย่อมหมายถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่เข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เท่านั้น 
 

แต่ไม่รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในช่วงเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะใช้บังคับ 

                           7 อรหันต์“คณะพิเศษ” ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่”

สาม...ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประสงค์จะนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ ย่อมต้องมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น การกำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด หรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ (๒) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

สี่....รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้ประสงค์ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย้อนหลังไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่สิ้นสุดลงแล้ว.... 

 

มิฉะนั้นจะต้องมีบทบัญญัติกำหนดไว้เช่นนั้น โดยแจ้งชัดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ เช่น การกำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด หรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ (๒) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังที่กล่าวมาเป็นต้น

 

ห้า....จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ข้างต้นนี้ จึงเห็นได้ว่า ผู้ร้องไม่อาจนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ของข้าพเจ้าย้อนหลังต่อเนื่องมา จากวันที่ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ มารวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ 

                                       7 อรหันต์“คณะพิเศษ” ค้ำยันเก้าอี้“นายกฯตู่”

หก....ดังนั้น ปัจจุบันข้าพเจ้าจึงยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไม่เกิน ๘ ปี ความเป็นนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามหลักเกณฑ์ของมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา 

 

นี่คือข้อต่อสู้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องสาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี 

 

แต่ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร จะออกหัว ออกก้อย...ใจเย็นกันสักนิดครับพี่น้องไทย 

 

ผมว่า ต้องรอลุ้นกันยาวไปจนถึงช่วงวันที่ 26-30 กันยายน 2565 โน่นแหละครับ