"ณรงค์ชัย" ไขปม "นายกรัฐมนตรีรักษาการ"

01 ก.ย. 2565 | 09:59 น.

"ณรงค์ชัย" ไขปมรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าเป็นนายกครบ 8 ปี แล้วหรือยัง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ระบุว่า 

 

ตอนที่ 3 : นายกรักษาการ

 

วันนี้/เวลานี้ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ มีผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายก คือ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่านายก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกครบ 8 ปี แล้วหรือยัง เพราะมีความไม่ชัดเจนในการตีความของข้อกฎหมายเรื่องนายก 8 ปี

 

รักษาการนายกจะเป็นนานเท่าไร  ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าอย่างไร อาจอยู่ไม่นานเกินเดือนหรือสองเดือน หรืออาจมากกว่านั้นก็เป็นได้ ระหว่างนี้เท่ากับประเทศไทยมีสองนายก คือนายกพักงานกับนายกรักษาการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

 

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่านายกรักษาการมีอำนาจทุกอย่างเหมือนนายกจริง ครม. จึงต้องมีมติเมื่อวันอังคารที่ 30 ส.ค. 2565 ว่ามีอำนาจครบจริง 

 

นายกทั้งสองความรู้สึกคงไม่เหมือนกัน สังเกตได้จากปรากฏการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ส.ค. 2565 ดูจากภาพกาย Body Language ที่นายกรักษาการไปเป็นประธานการประชุมแต่งตั้งตำรวจ หน้าตาอิ่มชื่นบาน ส่วนนายกพักงานไปเปิดงานแสดงอาวุธในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีรูปท่าถือปืนกลจ้อง/ส่องไปที่ใครไม่รู้ ด้วยสีหน้าเรียบเฉย

สังคมไทยจึงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันใหญ่ เกิดมโนในการคาดการณ์ และ/หรือเกิดนโมในการคาดหวัง ซึ่งก็เป็นธรรมดาในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ฝรั่งเขาจึงเรียกมนุษย์ว่าเป็น Political Animal

 

ผมว่าความจริงที่สำคัญคือเรามีนายกรักษาการ  เราควรสนใจด้วยว่ารักษาการนายกจะบริหารเศรษฐกิจ/การเมืองอย่างไร ดีไม่ดีมากน้อยแค่ไหน ต่อประชาชนและประเทศชาติ

 

เมื่อเป้าหมายเป็นอย่างนี้ เราควรพิจารณาว่านายกรักษาการต้องทำอะไร อย่างไร ผลจะดีไหม จะใช้หลักคิดของนายกพักงาน คืออริยสัจจ์สี่ก็ได้ คือทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค

 

ตามประสพการณ์ของผมที่เคยร่วมรัฐบาล งานของนายก ของรัฐบาล ที่มีความสำคัญจะแตกต่างกันตามฤดูกาล ตามไตรมาส ไตรมาส 3 ของปี หรือ Q3 คือ เดือน ก.ค.- กย. เป็นไตรมาสสุดท้ายตามปีงบประมาณ คล้ายกับ Q4 ของภาคเอกชนที่ต้องปิดงบสิ้นปี

 

Q3 ของรัฐบาล ของนายก งานที่สำคัญที่สุด คืองานงบประมาณปีต่อไป ซึ่งเริ่มใช้ Q4 ของปีปัจจุบัน และงานแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ส่วนการอนุมัติโครงการขนาดกลาง/ขนาดใหญ่หมดไปแล้ว มีแต่การอนุมัติการใช้เงินเล็กน้อย เพื่อให้หมดงบฯ ปี 65 

 

ปรากฎว่าปลาย ส.ค. ต้น ก.ย. งานงบฯ 66 จบแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งปกติจะมีการรบกวนสมาธินายกและรัฐมนตรีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่มีอำนาจ รบกวนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับลักษณะตัวตนของนายก ซึ่งเวลานี้ก็จบเกือบหมดแล้ว ของตำรวจที่มักมีข่าวการวิ่งเต้นมากสุดก็จบไปเมื่อ 29 ส.ค.

 

ส่วนทหารระบบแต่งตั้งโยกย้าย มีระบบ/ระเบียบที่ยากในการแทรกแซง เพราะรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จัดระเบียบไว้เมื่อปลายปี 2550 ต้นปี 2551 ที่กำหนดว่า รมว.กลาโหมและผู้นำเหล่าทัพมีอำนาจมากที่สุด ซึ่งก็จบแล้ว 

เพราะฉะนั้นนายกรักษาการใน Q3 นี้ งานเบาลงมาก จะมีก็ปัญหาปัจจุบันทางเศรษฐกิจคือภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาราคาพลังงาน ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาทางการเมือง เพราะใกล้เวลาเลือกตั้งใหม่ จึงขอวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ภายใต้นายกรักษาการ พล.อ. ประวิตร จะเป็นอย่างไร

 

การบริหารเศรษฐกิจและเรื่องอื่นของไทยใช้รูปแบบมีกรรมการ จะทำได้ดีแค่ไหนอยู่ที่ประธานและคณะเลขานุการ

 

ประสพการณ์ของผมในฐานะอยู่ในคณะที่ปรึกษาคสช. ตอนหลังการปฏิวัติ เดือน พ.ค. 2557 ที่มีพล.อ.ประวิตรเป็นประธาน มีการประชุมเกือบทุกวันทำงาน เริ่มเวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อในกองทัพบก

 

ขอเรียนว่า พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมที่ดำเนินการตามวาระ ไม่พูดออกนอกวาระ ใช้ข้อมูลจากคณะเลขานุการอย่างเต็มที่ และมีข้อสรุป ข้อตัดสินที่เร็วและชัดเจน โดยพล.อ.ดาพงษ์ เป็นเลขานุการที่สรุปรายงานการประชุมได้ชัดเจน

 

เพราะฉะนั้นผมคาดว่างานแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานผันผวนนั้น ในช่วงนี้น่าจะทำได้เร็ว รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย จะดี/ไม่ดีแค่ไหน จะอยู่ที่การเตรียมงานของทีมเลขานุการ ซึ่งก็ประกอบไปด้วยข้าราชการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานโดยตรง ที่น่าจะรู้เรื่องปัญหาดีเพราะมีข้อมูลมาก

 

ส่วนงานการเมืองที่ดูสับสนวุ่นวายในเวลานี้ นายกรักษาการ พล.อ.ประวิตรบริหารถนัดอยู่แล้ว ท่านมีเครือข่ายกว้างขวาง เห็นได้จากที่มูลนิธิป่ารอยต่อที่มีโรงอาหารขนาดค่อนข้างใหญ่ วันหนึ่งในทุกสัปดาห์ในช่วงเวลานั้น จะมีคนสำคัญมาทานอาหารกลางวันกันแน่นหนา โดยมีซุ้มอาหารให้เลือกหลากหลาย ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน พล.อ.ประวิตรจะพูดคุยและนั่งมองด้วยความภาคภูมิใจ

 

และ 3 ป. จะมีปัญหากันไหม จะกระทบการเมืองไหม

 

คือถ้าใช้หลักคิดเรื่องขั้นตอนของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่มนุษย์ให้ความสำคัญคือ “เลือดข้นกว่าน้ำ เงินข้นกว่าเลือด และอำนาจข้นกว่าเงิน” เราก็อาจจะเห็น Sign ที่เหมือนมีการเบียดเสียดอำนาจกันบ้าง แต่คงไม่ Serious ถึงขั้นแตกแยกกัน

 

คือถ้าย้อนความสัมพันธ์ของ 3 ป. ที่ทั้งสามท่านย้ำตลอดว่าไม่สั่นคลอน ต้องย้อนไปตอนที่มีการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่อาจต่างจากความสัมพันธ์ทางการทหาร

 

เหตุการณ์ทางการเมืองปลายปี 2551 คือนายกสมัครพ้นจากตำแหน่งตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีรายได้จากรายการ TV พรรคพลังประชาชน (ชื่อพรรคเพื่อไทยตอนนี้) เลือกคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายก อยู่ได้ไม่นาน ไม่ทันได้เข้าทำเนียบ

 

เพราะมีคณะของคุณสนธิ พลตรีจำลองยึดพื้นที่ไว้ ก็เกิดกรณีพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ข้อหาซื้อเสียงเลือกตั้ง นายกสมชายหมดฐานะการเป็นนายก มีการตั้งรักษาการนายกคือคุณชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาคุณอนุทิน ภายในประมาณสองสัปดาห์มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล โดยมีกลุ่มที่รู้จักกันในนาม “เพื่อนเนวิน” เข้าร่วมสนับสนุน ผู้จัดการจัดตั้งรัฐบาลคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ

 

การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายของกองทัพบก แปลว่ากองทัพบกมีบทบาทสำคัญ ตอนนั้นผบ.ทบ.คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และเสนาธิการทบ.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.กลาโหม  

 

สรุปได้ว่าทั้ง 3 ป. มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และควรทราบด้วยว่าพรรคภูมิใจไทยที่เกิดขึ้นเวลานั้น จัดตั้งโดยคุณเนวินและคุณอนุทิน ได้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นกำลังสำคัญ เพราะฉะนั้นเชื่อได้ว่านายกรักษาการ

 

พล.อ.ประวิตร นอกจากมีพรรคพลังประชารัฐเป็นกำลังแล้ว ก็ยังมีพรรคภูมิใจไทยด้วย

 

สรุปอีกทีว่า นายกรักษาการ พล.อ.ประวิตร ใน Q3 นี้งานไม่หนักและไม่ยาก ส่วน Q4 จะมีงานสำคัญคืองานประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 18-19 พ.ย. เวลานั้นท่านยังเป็นนายกรักษาการอยู่หรือไม่ ไม่ทราบ จึงจะยังไม่วิเคราะห์ว่าถ้าท่านยังเป็น งานใน Q4 ของท่านจะเป็นอย่างไร

 

สวัสดีครับ