องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

24 ส.ค. 2565 | 01:17 น.

สื่อใหญ่ของสหรัฐ สะท้อนภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยในห้วงเวลา 8 ปีภายใต้การบริหารของรัฐบาล “บิ๊กตู่” โดยเทียบคะแนนดัชนีต่าง ๆ จากสถาบันนานาชาติ พบว่า มีทั้งด้านบวก เช่นการรับมือและการฟื้นตัวหลังโควิด และด้านลบ ที่ยังเป็นเรื่องของเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย

วีโอเอ สื่อใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ได้ทำการประมวลและรวบรวมคะแนนดัชนีของสถาบันวิจัยต่าง ๆ 5 แห่ง ที่ได้ประเมินสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ เสรีภาพ และสาธารณสุขของไทย โดยเทียบตัวเลขจากรายงานฉบับล่าสุดในปี 2021-2022 กับรายงานที่ ประเมินไทย เมื่อครั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 (พ.ศ.2557) ซึ่งภาพรวมสะท้อนว่า สถานการณ์ด้านต่าง ๆของไทยช่วงพลเอกประยุทธ์ เริ่มรับตำแหน่งผู้นำประเทศจนถึงปัจจุบัน นั้น ...

  • สถานการณ์ของไทยด้านเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
  • ส่วนเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง แต่ระดับนิติธรรมถูกกดดันจากข้อตำหนิเรื่องความโปร่งใส
  • ส่วนตัวเลขจีดีพี ดีขึ้นหลังโควิดระบาดหนักในปี 2020

นอกจากนี้ องค์กรวิเคราะห์และวิจัยบางแห่งยังให้ความสนใจบริบทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองและพลวัตรทางสังคมของไทย ส่วนความโดดเด่นเชิงบวกมากจากการจัดการสาธารณสุขของไทยโดยเฉพาะการรับมือโควิด ติดอันดับห้าของโลก

องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

สถาบันวิจัยเยอรมันชี้ การเมืองไทยเป็น “เผด็จการสายแข็ง”

มูลนิธิแบร์เทิลส์มันน์ ชติฟตุง (Bertelsmann Stiftung) ซึ่งเป็นมูลนิธิอิสระของเยอรมนี จัดทำดัชนี Bertelsmann Transformation Index หรือดัชนี BTI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาและการจัดการของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก พบว่า ใน รายงานประจำปี 2022 นั้น Bertelsmann Stiftung ได้จัดอันดับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด 137 ประเทศ โดย ให้คะแนนการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในอันดับที่ 75 โดยมีคะแนนที่ 4.98 คะแนน จากคะเเนนเต็ม 10 ซึ่งมากกว่าคะแนนเมื่อปี 2016 ที่อยู่ที่ 4.79 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 88 จาก 129 ประเทศ โดยปี 2016 เป็นปีแรกที่ทางมูลนิธิเผยแพร่ข้อมูลหลังเกิดการรัฐประหารในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี2014

 

Bertelsmann Stiftung ให้คะแนน “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ของไทย อยู่ในอันดับที่ 97 โดยอยู่ที่ 3.85 คะแนน จาก 10 คะแนน และให้คำอธิบายว่าการเมืองของไทยเป็น “เผด็จการสายแข็ง” (hard-line autocracy) แต่ก็ยังมากกว่าที่เคยได้ 3.30 คะแนนเมื่อปี 2016 โดยในครั้งนั้น ไทยอยู่ในลำดับที่ 110 จากทั้งหมด 129 ประเทศ

 

บทคัดย่อของการจัดทำดัชนี BTI ในปี 2022 ระบุเกี่ยวกับไทยว่า “รากฐานทางกฎหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2017 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร และการเลือกตั้งหลายพรรคเมื่อปี 2019 ซึ่งทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไม่ได้จัดทำอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม”

องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

สถาบันวิจัย Bertelsmann Stiftung ยังระบุด้วยว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคที่แตกย่อย “อย่างโกลาหล” จำนวนมาก ส่วนฝ่ายค้านนั้นนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านอีกพรรคอย่างพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และจุดชนวนให้มีการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

 

เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานดัชนี BTI เมื่อปี 2016 องค์กรนี้ได้สรุปสถานการณ์การเมืองในไทยในขณะนั้นว่า “ในเบื้องต้น กองทัพสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี 2015 แต่ต่อมาก็ประกาศว่าจะเลื่อนไปจนถึงปี 2016 การปกครองโดยกองทัพในไทยได้ทำลายประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็พยายามฟื้นฟูความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ”

 

รายงานฉบับนี้ ยังจัดอันดับให้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย อยู่ในอันดับที่ 40 จาก 137 ประเทศ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 6.11 คะแนน หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ “จำกัด” (limited) ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเมื่อปี 2016 ที่ได้ไป 6.29 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 42 จาก 129 ประเทศ

 

รายงานของ Bertelsmann Stiftung ระบุว่า ปี 2020 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยทรุดถอยลงในสภาพที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินเมื่อปี 1997 การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่อ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุจากปัญหาการจัดการเศรษฐกิจ ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ – จีน และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

ไทยมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ “พอประมาณ”

มาดูทางด้าน สถาบันเดอะ เฮอริเทจ ฟาวเดชัน  (The Heritage Foundation) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองด้านนโยบายสาธารณะในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) โดย ในปีนี้ (2022) เสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทยจัดอยู่สถานะ “เสรีพอประมาณ” (moderately free) อยู่ในลำดับที่ 70 จาก 184 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 13 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากทั้งหมด 39 ประเทศ

 

เมื่อเทียบกับดัชนีเดียวกันในรายงานปี 2015 ซึ่งเป็นการประเมินไทยในปี 2014 อันเป็นปีที่มีการรัฐประหารนั้น ไทยมีคะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจในลำดับที่ 75 จากทุกประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 12 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากทั้งหมด 42 ประเทศ

 

ต่อมาในปี 2022 นี้ คะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 63.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 58.5 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 60.0 คะแนน แต่ถือเป็นคะแนนที่ต่ำสุดของไทยในรอบห้าปี

 

ในรายงานปี 2015 ไทยมีคะแนนอยู่ที่ 62.4 จาก 100 คะแนน เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกที่ 60.4 คะแนน และดีกว่าคะแนนเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 58.8 คะแนน เเต่ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเสรีซึ่งอยู่ที่ 84.6 คะแนน อย่างชัดเจน

 

รายงาน Index of Economy Freedom ประจำปี 2022 ระบุว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • การเติบโตอย่างแข็งแรงในปี 2017 และ 2018
  • เปลี่ยนเป็นการเติบโตที่ “ชะลอตัวลง” ในปี 2019
  • ก่อนที่จะ “หดตัวลง” ในปี 2020
  • แต่ก็กลับมามีการเติบโตอีกครั้งในปี 2021

 

สำหรับคะแนนที่น่าสนใจของไทยจากดัชนีในปี 2022 นั้น มีการให้เสรีภาพของการทำธุรกิจ เสรีภาพแรงงาน และเสรีภาพทางการเงิน อยู่ที่ 63.4, 59.6 และ 74.2 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นคะแนนที่อยู่ในค่าเฉลี่ยหรือเกินค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยทางสถาบันอธิบายว่า

 

“เป็นที่ทราบกันว่า ในขั้นตอนการร่างกฎระเบียบ รัฐบาลไทยปรึกษากับองค์กรที่ไม่ใช่รัฐมากกว่าเจ้าของธุรกิจ ข้อริเริ่มในการลดขั้นตอนทางราชการเมื่อปี 2017 ทำให้เสรีภาพในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในขณะที่อัตราการเกิดที่ต่ำ ประชากรที่มีอายุเพิ่มขึ้น และการใช้แรงงานไม่ตรงกับทักษะ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงและทักษะพื้นฐาน”

 

คะแนนเฉลี่ยด้าน “นิติธรรม” ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

อย่างไรก็ตาม คะแนนในส่วนนิติธรรมของไทย ได้แก่ สิทธิทรัพย์สิน ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม และการทำงานอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมของรัฐบาล กลับได้คะแนนเพียง 44.2, 36.2 และ 38.5 คะแนนตามลำดับ ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในทั้งสามหมวด

 

ในทางปฏิบัติแล้ว ศาลได้รับอิทธิพลทางการเมือง และมีการทุจริตทั่วไปในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายต่อต้านการทุจริตถูกนำมาใช้อย่างไม่ทั่วถึง การให้สินบน ของขวัญ การเล่นพรรคเล่นพวก และการเกื้อหนุนเครือญาติ พบได้ทั่วไปในการทำธุรกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และในระบบกฎหมาย” รายงานของ Heritage Foundation ระบุ

 

เมื่อเทียบกับรายงานปี 2015 คะแนนในหมวดนิติธรรมของไทยทั้งสิทธิในทรัพย์สินและการปราศจากการทุจริต ก็มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเช่นกัน โดยมีคะแนนอยู่ที่ 40.0 และ 35.0 ตามลำดับ โดยรายงานปี 2015 อธิบายถึงสถานการณ์นิติธรรมในไทยขณะนั้นว่า

 

“การคอร์รัปชันยังคงมีอยู่ ในขณะที่การเมืองมีความไม่มั่นคงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ก่อนที่การรัฐประหารเมื่อเดือนพ.ค. 2014 จะโค่นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยนั้น กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระมีประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิทรัพย์สินและการทำสัญญา แต่ยังคงถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ ทรัพย์สินของเอกชนได้รับการคุ้มครอง แต่ขั้นตอนทางกฎหมายนั้นเชื่องช้า”

องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

ธนาคารโลกระบุ จีดีพีไทยโตขึ้นหลังโควิด

ทางด้านตัวเลขจีดีพีของไทยจาก ธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเก็บข้อมูลล่าสุดจนถึงปี 2021 ระบุว่า จีดีพีของไทยในปี 2021 มีมูลค่า 505,980 ล้านดอลลาร์ โดยเมื่อเทียบกับปี 2014 แล้ว ขณะนั้นจีดีพีของไทยอยู่ที่ 407,340 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะลดลงเหลือ 401,300 ล้านดอลลาร์ในปีถัดมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2019 ที่ไทยมีจีดีพีอยู่ที่ 544,080 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะลดลงเหลือ 499,680 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19

 

เมื่อดูเปอร์เซ็นต์การเติบโตของจีดีพีต่อปีของไทยนั้น ในปี 2021 ไทยมีอัตราการเติบโตที่ 1.6% ซึ่งมากกว่าปี 2014 ซึ่งอยู่ที่ 1% โดยอัตราการเติบโตของจีดีพีนับตั้งแต่ปี 2014 เคยขึ้นสูงสุดที่ 4.2% ในปี 2017-2018 และลดต่ำสุดในปี 2020 (ช่วงโควิดเริ่มแพร่ระบาด)โดยอยู่ที่ -6.2% ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาในปีถัดไป

 

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จีดีพีของไทยในปี 2022 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการคาดการณ์เมื่อปีที่แล้ว 1% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในระดับปานกลาง แต่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5%

 

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า แม้ไทยอาจยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ แต่การแก้ปัญหาคอขวดในการผลิต (supply bottleneck) การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง อาจทำให้บัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาในแดนบวกต่อเนื่องในปี 2023 และ 2024

 

ธนาคารโลกกล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนี้

“เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตอย่างมั่นคงและมีความยากจนลดลงจนขยับจากประเทศรายได้ต่ำเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนภายในไม่กี่สิบปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักกลับได้รับผลกระทบอย่างมากจากกำลังการผลิตที่ชะลอตัว การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง และการเปลี่ยนผ่านทางโครงสร้างเพื่อนำทรัพยากรในภาคการเกษตรไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าเท่าใด”

 

ธนาคารโลกยังระบุด้วยว่า การลดความยากจนของไทยชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปี 2015 จากเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ภาคการเกษตรและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว และรายได้ของประชาชนที่คงตัว โดยธนาคารโลกแนะนำว่า รัฐบาลควรออกนโยบายขยายสวัสดิการสังคมไปยังกลุ่มประชากรที่เปราะบางเพื่อลดระดับความยากจน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า กลุ่มคนดังกล่าวได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19

องค์กร-สถาบันต่างชาติมอง ‘8 ปีรัฐบาลประยุทธ์’ มีทั้งบวกและลบ

Freedom House ยังจัดให้ไทย “ไม่เสรี”

ทางด้าน องค์กร Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงวอชิงตัน ได้จัดทำรายงาน Freedom in the World เพื่อชี้วัดเสรีภาพพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยรายงานประจำปี 2022 ให้คะแนนเสรีภาพของไทยที่ 29 จาก 100 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเมื่อปี 2021 อยู่หนึ่งคะแนน และจัดให้ไทยเป็นประเทศ “ไม่เสรี” ขณะที่ไทยได้คะแนนสิทธิทางการเมืองอยู่ที่ 5 จาก 40 คะแนน และคะแนนเสรีภาพพลเมืองที่ 24 จาก 60 คะแนน

 

ใน รายงาน Freedom in the World เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นรายงานของเสรีภาพในไทยเมื่อปี 2014 ได้ลดระดับของเสรีภาพในไทยจาก “มีเสรีบางส่วน” เหลือเป็น “ไม่เสรี” จากการทำรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2007 และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างเข้มงวด

 

อย่างไรก็ตาม คะแนนสิทธิทางการเมืองของไทยในรายงานฉบับปี 2015 อยู่ที่ 8 จาก 40 คะแนน และคะแนนเสรีภาพพลเมืองอยู่ที่ 25 จาก 60 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าในรายงานฉบับปี 2022 หมวดละหนึ่งคะแนน

 

“การถดถอยทางประชาธิปไตยและความไม่พอใจต่อบทบาทของสถาบันฯ ในการปกครองของไทย จุดชนวนให้มีการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น รัฐบาลตอบโต้ด้วยการใช้วิธีแบบอำนาจนิยม รวมทั้งการจับกุมโดยพลการ การข่มขู่ การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการคุกคามนักเคลื่อนไหว” รายงาน Freedom in the World ประจำปี 2022 ระบุ “เสรีภาพสื่อถูกจำกัด กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมไม่ได้รับการรับรอง และมีการยกเว้นโทษต่อผู้ก่ออาชญากรรมต่อนักเคลื่อนไหว”

 

ขณะเดียวกัน รายงานฉบับปี 2015 ได้สรุปสถานการณ์หลังการรัฐประหารและการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่า “เมื่อเดือนกรกฎาคม (2014) คสช. ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ร่างโดยไม่มีการหารือกับสาธารณะ ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งและมีลักษณะเป็นสภาเดียว ประชุมเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม และเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขายังคงเป็นหัวหน้า คสช. ต่อไป แต่ได้ออกจากการรับราชการทหารอย่างเป็นทางการ”

 

มองมุมบวก ดัชนี GHS จัดอันดับไทย มีความมั่นคงด้านสุขภาพอยู่ที่ 5 ของโลก

ดัชนี Global Health Security Index หรือ GHS ซึ่งเป็นดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของโลก ร่วมจัดทำโดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ องค์กร Nuclear Threat Initiative และหน่วยงาน Economist Intelligence Unit เริ่มจัดทำในปี 2019 และมีรายงานฉบับล่าสุดในปี 2021 ซึ่งจัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 5 จาก 195 ประเทศทั่วโลก โดยได้คะแนน 68.2 คะแนน

 

ทั้งนี้ ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา และไทย

 

ไทยยังได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนอีกด้วย

 

ดัชนีดังกล่าวให้คะแนนไทยในหมวดการป้องกัน การตรวจหาและรายงานโรค การตอบสนองต่อโรค ระบบสุขภาพ การปฏิบัติตามหลักสากล และการจัดการความเสี่ยง สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกทั้งหมด

 

“มีหลักฐานว่า ไทยใช้แผนรับมือฉุกเฉินระดับชาติเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับเชื้อโคโรนาไวรัส การประกาศกฎและแนวทางของสถานที่กักตัว” รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า  

 

“ไทยยังใช้กฎหมายและแผนรับมือที่มีอยู่เพื่อเป็นแนวทางต่อการรับมือ เช่น พรบ. โรคติดต่อ และ พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

 

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานต่อสาธารณะว่า ในช่วงปี 2020-2021 ไทยได้ระบุถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน ของตนเพื่อพัฒนาแผนรับมือโรคระบาดหรือภัยคุกคามทางชีวภาพหรือไม่ และยังไม่มีหลักฐานว่าไทยได้ซ้อมรับมือภัยคุกคามทางชีวภาพในระดับประเทศ หลังการซ้อมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2018 หรือไม่

 

รานงานยังระบุด้วยว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ยังขาดประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขที่เพียงพอในระยะยาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการระบาดของโควิด-19 ว่า การเตรียมพร้อมและรับมือที่ไม่เพียงพอสามารถส่งผลต่อสาธารณสุขและความมั่นคงได้ในทุกระดับ

 

ที่มา : VOA Thai