"นายก 8 ปี" ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้ กฎหมายตีความได้อย่างไรบ้าง อ่านเลย

24 ส.ค. 2565 | 00:11 น.

"นายก 8 ปี" ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้ กฎหมายตีความได้อย่างไรบ้าง อ่านเลยที่นี่ หมอเฉลิมชัยสรุปครบจบทุกประเด็น ชี้เป็นเรื่องวิชาการ และมิติทางกฏหมายโดยแท้จริง

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

เข้าใจง่าย แต่รู้จริงและเพียงพอที่จะติดตามเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี (นายกฯ 8 ปี)

 

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวร้อนแรงหลายเรื่อง แต่ถ้าจะพูดถึงข่าวที่ร้อนแรงมากทางด้านการเมือง

 

ก็น่าจะหนีไม่พ้น กรณีวาระการดำรงตำแหน่งของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เมื่อใดกันแน่

 

ซึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาย้อนกลับไปว่า เราจะถือว่านายกรัฐมนตรีเริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อใด

 

แม้กรณีดังกล่าว จะเป็นประเด็นทางการเมือง แต่พื้นฐานของเรื่องนี้อาจต้องถือว่าเป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องมิติทางกฏหมายโดยแท้จริง

 

ซึ่งจะทำให้เกิดประเด็นเข้าใจไม่ตรงกัน หรืออาจไปถึงขั้นขัดแย้งกันสำหรับประชาชนทั่วไป ที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ ในการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

 

จะว่าเข้าใจยาก ก็ยาก
จะว่าเข้าใจง่าย ก็ง่าย

ถ้าได้ใช้เวลาอ่าน และทำความเข้าใจพอสมควร ก็จะทำให้ความสับสนหรือไม่เข้าใจในประเด็นต่างๆลดลง

 

แต่ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วน ก็จะมีความยุ่งยากมาก จึงมีหลายคนไม่สามารถจะมีความคิดเห็นได้ว่า น่าจะเป็นอย่างไร

 

มีหลายคนที่มีความคิดเห็นไปก่อนแล้ว ตามความรู้สึกนึกคิดหรือความชอบเป็นส่วนตัวของตนเอง โดยเฉพาะทางด้านการเมือง แต่พอลงรายละเอียดลึก ก็มักจะตอบไม่ได้ว่า ที่คิดอย่างนั้นใช้หลักการอะไร

 

วันนี้จะลองสรุปประเด็นข้อมูลต่างๆกันดู แบบให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นเพียงพอที่จะพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร

 

"นายกฯ 8 ปี" ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้

 

แนวคิดเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย

 

จะพบว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 3 มาตราดังนี้

 

  • มาตรา 158 วรรคสี่ ความว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

 

  • มาตรา 170 วรรคสอง ความว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย"

 

  • มาตรา 264 บทเฉพาะกาล วรรคหนึ่ง “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่"

จากข้อกฎหมายหลัก 3 มาตราดังกล่าว แม้เป็นนักกฎหมายด้วยกันเอง เมื่ออ่านข้อความเดียวกัน ก็ยังตีความออกมาเป็น 3 แนวทางดังนี้

 

1.ถือว่าเริ่มดำรงตำแหน่ง 9 มิถุนายน 2562 และถ้าอยู่ต่อเนื่องแปดปีไม่เว้นเลย จะไม่มีสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2570 มีเหตุผล

 

  • การบังคับใช้กฎหมายต้องใช้เฉพาะในช่วงรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เท่านั้น นายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562

 

  • มาตรา 158 วรรคสี่ ร่วมกับมาตรา 170 วรรคสอง ถือว่าเป็นบทหลัก ต้องยึดถือเป็นส่วนสำคัญ

 

  • มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทเฉพาะกาล ก็ใช้สำหรับห้วงเวลาของรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้เท่านั้น จะไม่สามารถไปครอบคลุมบทหลักของมาตรา 158 และมาตรา 170 ได้ และไม่สามารถจะย้อนกลับไปบังคับในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้ด้วย

 

  • กฎหมายมหาชนหรือกฎหมายใดจะมีผลย้อนหลังได้ เฉพาะกรณีเป็นคุณ  ไม่สามารถย้อนหลังกรณีเป็นโทษได้

 

2.กรณีเริ่มดำรงตำแหน่ง 6 เมษายน 2560 และจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 6 เมษายน 2568 กรณีนี้ใช้เหตุผลประกอบคือ
เมื่อเป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560  ในวันดังกล่าว มีใครเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็ให้เริ่มนับจากวันนั้น จึงเป็นที่มาของการเริ่มดำรงตำแหน่ง 6 เมษายน 2560

 

3.กรณีดำรงตำแหน่ง 24 สิงหาคม 2557 และจะพ้นวาระไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 มีเหตุผลดังนี้

 

  • ใช้มาตรา 264 เป็นหลัก แม้จะเป็นบทเฉพาะกาล ก็แปลความว่า เมื่อเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน ก็ต้องนับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกับไปด้วย

 

  • มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง จะถูกมาตรา 264 ครอบคลุมด้วย แม้จะถือว่าเป็นบทเฉพาะกาล ก็สามารถครอบคลุมบทหลักได้

 

  • กรณีนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องการให้คุณให้โทษ จึงสามารถให้มีผลย้อนหลังได้

 

จากข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด จึงทำให้แม้ผู้ที่เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้ทางกฏหมาย ก็ยังสามารถมองออกได้เป็น 3 กรณีด้วยกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้มาวินิจฉัยชี้ขาด

 

ส่วนประชาชน หรือผู้คนทั่วไปที่มีแนวคิดสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ย่อมมีความเห็นที่โน้มเอียงไปในทางที่กลุ่มหรือพรรคพวกของตนเองสนับสนุนอยู่ ก็จะยิ่งมีความเห็นที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในเรื่องดังกล่าว แม้ในมุมมองของนักกฎหมายเอง ก็ยังแตกต่างกัน ก็คงจะไม่แปลกอะไร ที่มุมมองของประชาชนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายน้อยกว่า ก็จะยิ่งแตกต่างกันออกไปอีก

 

จึงต้องให้องค์กรอิสระ ที่กำหนดหน้าที่และอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ ให้เป็นผู้มาทำหน้าที่วินิจฉัย ในที่นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ

 

เช่นเดียวกับหลักการของคดีความที่ประชาชนขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง ที่จะต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย

 

และทุกครั้งที่มีการวินิจฉัย ก็จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่ไม่ยอมรับ เป็นปกติของมนุษย์
การออกแบบระบบเพื่อหาข้อยุติอย่างสันติในกรณีมีความเห็นต่าง หรือมีความขัดแย้งของการอยู่ร่วมกัน แม้จะทำอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยากที่จะมีความเห็นร่วมอย่างเป็นเอกฉันท์และไปในทิศทางเดียวกัน