เปิด 3 แนวทางคลายปม นายกฯ 8 ปี "บิ๊กตู่" ไปต่อ หรือ พอแค่นี้   

23 ส.ค. 2565 | 20:04 น.

เปิด 3 แนวทาง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี นับตั้งแต่เมื่อไร และสิ้นสุดวันไหน  

คอการเมืองยังคงเกาะติดประเด็นร้อนทางการเมืองประเด็น วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความเคลื่อนไหวเป็นลำดับ ทั้งยังมีการวิพากวิจารณ์ ตีความและแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมความเห็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาบางส่วนไว้ให้ที่นี่แล้ว

 

เริ่มกันที่ วงประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมฟังตอนหนึ่งว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมา 3 แนวทาง ไม่นอกเหนือจากนี้ ดังนี้  

 

แนวทางที่ 1

นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คือ วันที่ 24 ส.ค.2557


น่าสนใจว่า หากยึดแนวทางแรกนี้ หมายความว่า ในวันนี้ 24 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีแล้วซึ่งประเด็นนี้นี่เองที่ 171 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภา ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.65 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เรียบร้อยแล้ว

เช่นเดียวกับความเห็นของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์  51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย  อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.ทักษิณ ม.ธรรมศาสตร์ ม.นเรศวร และ ม.บูรพา เป็นต้น ได้ส่งจดหมายถึงประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหาระบุว่า 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้ว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ …"

 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 จะเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.2565 จึงเกิดประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงนายกฯ ต่อไปหลังจากวันที่ 24 ส.ค.ได้หรือไม่  

แนวทางที่ 2 

กรณีนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560  

 

โดย นายวิษณุ รองนายกฯ ได้อธิบายประเด็นนี้ว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง "นายกฯ 8 ปี" นั้น อยู่ในมาตรา 158 วรรคสี่ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่..." แต่การที่จะนับเวลาตามวรรคสี่ ต้องไปดูที่มาตามวรรคหนึ่ง 


แนวทางนี้ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นส่วนตัวเอาไว้ว่า 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 158 วรรคแรก ระบุว่า "นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่ง สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 159"

 

มาตรา 159 ระบุ "คุณสมบัติ" ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ โดยสรุปสาระสำคัญว่า "ให้สภาฯ เห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88" 

 

มาตรา 158 วรรคท้าย ระบุว่า "นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้ว เกิน 8 ปีไม่ได้" โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯครั้งแรก ( 9 มิถุนา 2562) ซึ่งหลังการรัฐประหาร พล.ท.นันทเดช เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตาม ม.159 ที่ระบุ "คุณสมบัติ" ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า

 

"ให้สภาฯ เห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88" เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยไม่ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลที่มีรายชื่อตามที่พรรคการเมืองเสนอมา 

 

ด้วยเหตุนี้ ถ้าดูตามตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และ 159 แล้ว ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รธน.2560 นี้ได้ประมาณ 3 ปีกับ 3 เดือนเท่านั้น

 

แนวทางที่ 3 

กรณีนับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 9 มิ.ย.2562 หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคหนึ่งระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน" 


เหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วน คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะวินิจฉัยชี้ขาดให้สังคมคลายความกังขาในเรื่องนี้ได้