ย้อนรอยมหากาพย์ "ทักษิณ" หนีคดีกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 8 พันล. ให้กฤษดามหานคร

20 ส.ค. 2565 | 00:11 น.

ย้อนรอยมหากาพย์ "ทักษิณ" หนีคดีกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 8 พันล. ให้กฤษดามหานคร ทำไมศาลตัดสินจำคุกอดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร 860 ปี แต่จำคุกได้จริง 20 ปี

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

มหากาพย์ !! ศาลตัดสินจำคุกอดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร 860 ปี แต่จำคุกได้จริง 20 ปี

 

ความเป็นมากรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2546 นั้น

 

ต้องถือว่าเป็นมหากาพย์อันยาวนานอีกคดีหนึ่งของประเทศไทย ดังรายละเอียดโดยย่อดังนี้

 

1.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาเรียบร้อยไปก่อนแล้ว ให้อดีตประธานบอร์ดธนาคารกรุงไทย ( ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์) อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย(วิโรจน์ นวลแข)
ถูกจำคุก 18 ปี จากกรณีอนุมัติสินเชื่อกว่า 8000 ล้านบาท ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร

 

โดยจำคุกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนคนละ 12 ปี โดยมีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยที่หนึ่ง แต่เนื่องจากหลบหนีคดีไป ศาลจึงจำหน่ายคดีเป็นการชั่วคราว เพื่อรอนำตัวมาพิจารณาพิพากษาต่อไป

 

จำเลยในคดีดังกล่าวได้เข้ารับโทษไปแล้ว หลายท่านได้เสียชีวิต หลายท่านสูงอายุจนได้รับการพักโทษออกมาข้างนอกแล้ว

2.มูลกรณีคือ ธนาคารกรุงไทยได้จัดอันดับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทกฤษดามหานครอยู่ในอันดับ 5 ที่ไม่สามารถให้สินเชื่อได้
แต่ก็มีการอนุมัติโดยมิชอบ 3 กรณีรวมวงเงิน 11,585 ล้านบาท

 

3.ในวันนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีการพิพากษาในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายวิชัย กฤษดาธานนท์วัย 83 ปี นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายอายุ 56 ปี อดีตกรรมการผู้มีอำนาจ และพวกรวม 6 คน
ฐานร่วมกันฟอกเงิน ที่ได้มาจากการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบจากคดีแรก

 

4.หลังจากธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อให้กับทางบริษัทกฤษดามหานครและบริษัทในเครือแล้ว

 

โดยจำเลยทั้งหกและพวกอีกหลายคน ได้สมคบกันฟอกเงินที่ได้รับ 10,400 ล้านบาท โดยมีการกระทำที่ซับซ้อน นำเงินไปใช้ซื้อขายหุ้นและที่ดินซึ่งไม่เกี่ยวกับการนำเงินไปปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ขอสินเชื่อไว้

 

อันถือว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

อัยการฟ้องในข้อหากระทำผิด เพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน ตลอดจนช่วยเหลือให้ผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ รวมทั้งหมด 141 กรรมด้วยกัน

 

คำพิพากษาสรุปว่าผิดจริง และให้จำคุก

 

  • จำเลยที่หนึ่ง 133 กรรม 860 ปี
  • จำเลยที่สอง   28 กรรม 118 ปี
  • จำเลยที่สาม   52 กรรม 412 ปี
  • จำเลยที่สี่        38 ปี
  • จำเลยที่ห้า      25 กรรม 235 ปี
  • จำเลยที่หก      39 กรรม 262 ปี

 

แต่ตามกฎหมาย สามารถจำคุกได้สูงสุดคนละ 20 ปี จึงให้จำคุกทั้งหกราย 20 ปี

 

โดยจำเลยที่หนึ่งถึงสาม มีโทษจำคุกเดิมจากศาลฎีกา 12 ปี ให้นับโทษรวมเข้าไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม คงมีกระบวนการอุทธรณ์ฎีกากันต่อไป