จับสัญญาณ“ยุบสภา"รัฐบาลเร่งปลดล็อกสู่โหมดเลือกตั้ง

20 ส.ค. 2565 | 02:09 น.

จับสัญญาณ“ยุบสภา"รัฐบาลเร่งปลดล็อกสู่โหมดเลือกตั้ง : สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน “ข่าวลือ” ที่ฝ่ายการเมืองออกมาปฏิเสธ แต่ในที่สุดก็เคย “เป็นจริง” ขึ้นมาแล้วก็มีให้เห็นหลายครั้ง รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3811

จู่ ๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ก็ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2565 เป็นต้นมา 


โดยระเบียบดังกล่าว เป็นการกำหนดเงื่อนไข การทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือ มีการ “ยุบสภา” เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและโอกาสทัดเทียมในการเลือกตั้ง

ข้อห้ามครม.รักษาการ

 

สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวมี 7 ข้อ เป็นการกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ ครม.ระหว่างรักษาการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ประกอบด้วย 


1.ห้ามจัดประชุม ครม.สัญจร นอกสถานที่  


2.ห้ามใช้งบประมาณของรัฐ ในการจัดประชุม อบรม บุคลากรของรัฐหรือเอกชน 


3.ห้ามสั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐ  


4.ห้ามสั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่าย จัดสรรทรัพยากรของรัฐ โดยไม่มีเหตุอันควร


5.ห้ามใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ 


6.ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ อุปกรณ์ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม 


และ 7. ห้ามใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ 

 

ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2551 แต่เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงได้มีการยกร่างระเบียบขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกัน 


รองรับยุบสภา? 


แต่ที่เป็นที่น่าสังเกตคือ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  มีการลงนามประกาศดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2563 เหตุใดกลับพึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวทางการเมืองว่า รัฐบาลอาจมีการ “ยุบสภา” เร็วๆ นี้ เนื่องจากปัญหาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่


ทั้งยังมีข้อเกตว่า สำนักงานกกต.ได้นำส่งระเบียบดังกล่าวไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากที่ประธานกกต.ลงนามแล้วไม่นาน แต่เหตุใดทางสำนักนายกฯ พึ่งนำระเบียบดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                              จับสัญญาณ“ยุบสภา"รัฐบาลเร่งปลดล็อกสู่โหมดเลือกตั้ง

การนำระเบียบดังกล่าวมาประกาศในเว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษาช่วงนี้ จึงทำให้มองได้ว่า เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี" ของ พล.อ.ประยุทธ์  อยู่บนความไม่แน่นอนว่าจะจบสิ้นเมื่อใดหรือไม่ 


ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทางบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่างก็เคลื่อนไหวลลงพื้นที่หาเสียงตุนคะแนนล่วงหน้ากันอย่างคึกคัก ไม่หยุดหย่อน เพราะไม่รู้อนาคตว่า “บิ๊กตู่” จะประกาศยุบสภาเมื่อใด


แต่หากจับอาการของฝ่ายบริหาร ท่ามกลางกระแสข่าวลือ จะมีการ “ยุบสภา” ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังพบ “สัญชาติญาณของนักการเมือง” ที่ต้องตระเตรียมการอะไรต่อมิอะไรให้พร้อมก่อนการยุบสภา 


ติวกกต.เตรียมเลือกตั้ง


ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ก็ได้ประชุมผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ที่โรงแรมเมอเวนพิค อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อมอบแนวทางและข้อเสนอแนะเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่สภาฯ จะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566


ประธาน กกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะครบวาระในปี 2566 ว่า แต่ละจังหวัดได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งที่จะใช้บัตร 2 ใบ ตามที่กฎหมายได้มีการแก้ไข 


และการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้ง ตามที่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีการแก้ไขกำหนดขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ 


พิรุธเร่งออกพรก.กู้เงิน 


ความบังเอิญอีกอย่างที่ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า เป็นการปูทางไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ก็คือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565  นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์  รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ได้ออกมายอมรับ การประชุมครม.มีวาระลับ เสนอออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน 


ถือว่าเป็นการเร่งออกเป็นพ.ร.ก.ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน เสมือนว่ารัฐบาลยังมีเวลาเหลืออีกไม่นาน จึงเร่งผลักดันเรื่องนี้เสียก่อน 


ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  สั่งการในที่ประชุมครม.ให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ที่ค้างท่ออยู่ พร้อมกำชับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  ซึ่งกำลังเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในวาระสองและวาระสามให้เป็นผลสำเร็จ  


อีกสัญญาณที่สัมผัสได้ คือ การที่นายกฯ ออกมาเบรกกระทรวงพลังงานปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือนก.ย.- ธ.ค.ออกไปก่อน เช่นเดียวกับที่ทางรัฐบาลโปรโมท “โครงการคนละครึ่งเฟส 5” เอาใจประชาชน หวังสร้างความนิยมให้รัฐบาลที่กำลังหดหายไปให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง ในช่วงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง 


การเมืองขึ้นอยู่กับ“บิ๊กตู่”


แม้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ก่อนจะลาออกมารับตำแหน่งส.ส. จะออกมาชี้แจงต่อข้อสงสัยระเบียบกกต.ที่เพิ่งประกาศออกมาว่า  "คงไม่ใช่การเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านี้กกต.เตรียมความพร้อมเลือกตั้งมาตลอด ทั้งในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งเมืองพัทยาและการเลือกตั้ งกทม. ที่เตรียมการมาตลอดเวลาอยู่แล้ว

 

และที่สำคัญ พล.อประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี  ยืนยันว่า ไม่มีการยุบสภา และจะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ต่อไป” 


แต่สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน “ข่าวลือ” ที่ฝ่ายการเมืองออกมาปฏิเสธ แต่ในที่สุดก็เคย “เป็นจริง” ขึ้นมาแล้วก็มีให้เห็นหลายครั้ง


ยิ่งใกล้วันที่ “นายกฯประยุทธ์” จะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้ ตามความคิดเห็นของฝ่ายค้าน ก็จะเจอกับแรงกดดันของฝ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ให้ “นายกฯ” ยุติการปฏิบัติหน้าที่เสียก่อน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

สถานการณ์ทางการเมืองจะเดินไปอย่างไร “นายกฯ” จะยุบสภาก่อนหรือไม่ หรือจะรอวัดใจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่คิดว่าตัวเองจะ “ได้ไปต่อ” 

 

ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “นายกฯประยุทธ์” แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น...

 

         จับสัญญาณ“ยุบสภา"รัฐบาลเร่งปลดล็อกสู่โหมดเลือกตั้ง    จับสัญญาณ“ยุบสภา"รัฐบาลเร่งปลดล็อกสู่โหมดเลือกตั้ง