ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ เปิดเอกสารงบซ่อมเครื่องบินปริศนาพุ่ง 2.7 พันล.

22 ก.ค. 2565 | 05:35 น.

อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล เปิดเอกสารงบซ่อมเครื่องบินปริศนาราคาพุ่ง 2,774 ล้านบาท จากงบที่ตั้งไว้ 950 ล้านบาท อัด "บิ๊กตู่" อุ้ม "บิ๊กเนม" ส่อทุจริต ใช้ภาษีปชช.จ่ายหนี้แทน 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้วในวันนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติว่า ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในกองบินตำรวจ และอนุมัติงบกลางซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ชดใช้แทนผู้กระทำผิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

กรณีโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ลงนามสัญญากับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ซ้อมและจัดหาอะไหล่ ตามปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 950 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ พล.ต.อ.กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ โดยการดำเนินโครงการฯมีการใช้เงินเกินงบประมาณ กว่า 1,824 ล้านบาท หรือ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,774 ล้านบาท โดยมีค่าอะไหล่สูงกว่า 764 ล้านบาท และอีก 784 ล้านบาท ที่ไม่เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องบิน และการจัดหาอะไหล่ อาทิ เครื่องดับเพลิงและการติดตั้งระบบไฟฟ้าไล่นกซึ่งมีราคาสูงเกินจริงเพราะจากการตรวจสอบมีราคาเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น

 

 

โดยในเดือนก.ย.64 การบินไทยได้ส่งหนังสือทวงหนี้มาที่ สตช. กรณีเงินส่วนที่เกินมาจำนวน 1,824 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ นายกฯ รับทราบ เพราะในวันที่ 21 กันยายน 2564 สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือกับ ครม. เป็นเงิน 1,800 ล้านบาท โดยท้ายหนังสือนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับทราบ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 กรมบังคับคดีได้ส่งหนังสือทวงหนี้มาที่ สตช.อีกครั้ง แต่ สตช. ปฏิเสธล่าช้า กว่าเวลากำหนด 3 วันทำให้ สตช. มีสถานะเป็นลูกหนี้เด็ดขาดตามพ.ร.บ.ล้มละลาย ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบกลางไปชดใช้หนี้ส่วนนี้ให้

ทั้งนี้ แม้จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่เป็นการเตะถ่วงโดยในเดือนเมษายน 2565 รัฐบาลอนุมัติงบ 937 ล้านบาทเพื่อชดใช้หนี้ดังกล่าว โดยขอให้ก่อหนี้ผูกพันเกินปี 2563 ได้อีกทั้งที่เวลาล่วงเลยมาแล้ว 2 ปี  


ทั้งยังพบว่ามีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด 
ซึ่งพล.ต.ต.กำพล เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่ คำสั่ง ตร. ระบุว่าตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติวงเงินได้แค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่า วงเงินต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อมีการประเมินราคาของที่นำไปแลกทั้งหมดกว่า 6 พันชิ้นพบว่า มีราคารวมกันถึง 1,157 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปรวมกับเศษเหล็กซึ่งทั้งหมดยังใช้งานได้ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111 ล้านบาทแต่เมื่อนำไปรวมกับเศษเหล็กมูลค่าจึงเหลือเพียง 2.5 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก็มีการเตะถ่วง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับตั๋วช้าง 

 

เนื่องจากเมื่อ พล.ต.ต.กำพล พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการอยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ.เดโชชัย5) หรือ ศูนย์เดโชชัย 5 ขึ้นมา 

 

โดยพล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร.ลงนามตั้งซึ่งเชื่อว่า ไม่มีระเบียบรองรับ และให้ พล.ต.ต.กำพล ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์เดโชชัย 5 อีกด้วย
ประเด็นสำคัญ คือ ในปี 2565 พล.ต.ต.กำพล ทำการบินไปแล้วกว่า 40 ครั้งโดยมีการตรวจสุขภาพตามระเบียบ เนื่องจากย้ายไปอยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำการบินแล้ว จึงถือเป็นการทำงานที่บกพร่อง และเสี่ยงอันตราย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายถวายความปลอดภัยฯ กลับบกพร่อง ให้ผู้ที่ขาดคุณภาพปฏิบัติภารกิจเพื่อถวายความปลอดภัยสูงสุด