“จุติ” ชิ่งตอบปมฉาวการเคหะ ชัดข้อมูลมั่ว ขอค้นเอกสารมาแจงให้กระจ่าง

19 ก.ค. 2565 | 16:20 น.

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 รอบดึกเดือด “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีกระทรวงพม. ปัดตอบปมอภิปรายการเคหะแห่งชาติ ซัดข้อมูลเท็จ เอาข้อมูลภายในมั่ว ๆ มาอภิปราย รับจดเอาไว้ 17 ประเด็น สั่งผู้บริหารค้นเอกสารเอามาชี้แจงให้กระจ่าง กันเข้าใจคลาดเคลื่อน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงกรณีของนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับปมโครงการของการเคหะแห่งชาติ ว่า ได้จดประเด็นที่ถูกกล่าวหามา 17 ประเด็น พบว่าเป็นเรื่องจริงบ้าง ผิดจากข้อเท็จจริงบ้าง จริงครึ่งไม่จริงครึ่งบ้าง

 

โดยในเรื่องของการเคหะแห่งชาตินั้น เห็นตรงกันกับผู้อภิปรายว่า อยากให้การเคหะแห่งชาติเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีดีขึ้น และส่วนตัวก็สนับสนุนการยื่นเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบการบริหารงานที่คิดว่าผิดปกติ

 

แต่ในเบื้องต้นเห็นว่า เรื่องที่ผู้อภิปรายเอามาอภิปรายนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2537 และ ปี 2543 ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ผู้บริหารของการเคหะแห่งชาติ ไปค้นเอกสารมาชี้แจงสภาให้เข้าใจในข้อกล่าวหานั้นว่า ไม่เป็นความจริง

“90% ที่ผู้อภิปรายหยิบยกขึ้นมาพูดเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. แต่ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ และก็ต้องแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน”

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจพบความผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับบริษัทลูกของการเคหะฯ และการบริหารทรัพย์สินของการเคหะฯ ที่มีปัญหา โดยสตง. ได้ส่งผลวิเคราะห์ พร้อมข้อเสนอแนะให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของการเคหะฯ ดังนี้

  • พบความผิดปกติของการจัดทำบัญชีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน
  • ตรวจพบปัญหาและความผิดปกติเกี่ยวกับบริษัทลูกและผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทลูก คือ บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO) 
  • เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
  • หากพบความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งคณะบริหารงานของกรรมการผู้จัดการ CEMCO ทำให้การเคหะฯ เสียประโยชน์ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด และควรกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อให้เกิดการบริหารงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส

นายจุติ กล่าวว่า ยินยอมให้ที่ประชุมรัฐสภาตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่จะไม่ยอมให้ใครบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยขอใช้เวลานิดเดียวในการตรวจสอบ 17 ประเด็นที่จดไว้ และคิดว่าผู้อภิปรายได้ใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก และทำให้การเคหะ และตนเองได้รับความเสียหาย รวมทั้งรัฐบาลเสียหายด้วย

 

“ได้ขออนุญาตประธานสภาให้สมาชิกอภิปรายท่านต่อไปก่อน และระหว่างนั้นจะรวบรวมเอกสารมา และขอใช้สิทธิในการชี้แจงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ในหลายประเด็น เช่น ขอปฏิเสธว่าไม่เคยแอบอ้างสถาบันเรื่องการสร้างบ้าน และผู้อภิปรายพูดตลอดเวลาว่า เขาเล่าต่อ ๆ มา และโครงการต่าง ๆ ใช้เวลา 200 ปีกว่าจะคุ้มทุนก็ใช้ข้อมูลภายในที่มั่ว ๆ รวมทั้งการอ้างมติครม. วันที่ผู้ว่าการเคหะฯ เข้าสู่ตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งผิดไปจากข้อเท็จจริงทั้งหมด”

 

นายจุติ ยอมรับว่า การทำงานของรัฐบาลในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนนั้น เป็นไปด้วยความโปร่งใส และตั้งใจดีที่จะให้ประชาชนมีบ้าน มีที่อยู่ โดยได้ปรับการทำงานของการเคหะฯ จากการสร้างบ้านขายเพื่อกำไรเชิงพาณิชย์ มาเป็นการสร้างเพื่อให้เช่า ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยจากที่เคยเป็นผู้บุกรุกมาเป็นผู้เช่าแทน 

 

พร้อมกันนี้ยังจัดการปัญหากับบริษัทที่รับเหมาเช่าช่วงจากการเคหะฯ ไปเดือนละไม่กี่พันบาทแล้วไปปล่อยกู้ให้กับชาวบ้านที่ยากจนเดือนละ 2,500 – 3,000 บาท จึงทำให้เกิดผู้เสียประโยชน์มากมาย และเป็นที่มาของการเล่าข่าวแบบผิด ๆ แบบฟังความข้างเดียวมาเสนอให้สมาชิกที่ตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของข้อมูลที่คาดเคลื่อนในสาระสำคัญอย่างยิ่ง
 

อย่างไรก็ตามหลังจากนายจุติ ชี้แจงเสร็จ นายณัฐชา ได้ทักท้วง โดยขอให้รัฐมนตรีตอบคำถามทั้งหมด เพราะมีผู้อภิปรายคนเดียว แต่รัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบ และยืนยันว่าจะขอตรวจสอบเอกสารเพื่อมายืนยันข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่ถูกอภิปรายไม่เป็นความจริง ก่อนจะเดินออกจากห้องประชุมไป