วิป 3 ฝ่ายเคาะซักฟอกนายกฯ- 10 รมต. 4 วันเต็ม 19-22 ก.ค. ลงมติ 23 ก.ค.65

06 ก.ค. 2565 | 10:55 น.

วิป 3 ฝ่าย เคาะศึกซักฟอกรัฐบาล 4 วันเต็ม  19-22 ก.ค. ลงมติ 23 ก.ค.65  พรรคฝ่ายค้านพอใจได้เวลา 45 ชั่วโมง ตามที่ต้องการ


วันนี้ (6 ก.ค.65) ที่รัฐสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากำหนดกรอบวันเวลาต่างๆ ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา151 ที่มีรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งสิ้น 11 ราย 


ภายหลังประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะมีทั้งหมด 4 วัน โดยฝ่ายค้านได้เวลาทั้งหมด 45 ชั่วโมง ส่วนอีก 18 ชั่วโมงเป็นของครม. ส.ส.รัฐบาล และประธานที่ประชุม 

การประชุมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 - 22 ก.ค.นี้ เวลา 08.30-00.30 น.ของทุกวัน ยกเว้นวันอภิปรายสรุป ซึ่งจะให้จบประมาณเวลา 23.30 น. หรือไม่เกิน 00.00 น. และจะลงมติในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. เวลา 10.00 น. 

 

“เราพอใจแม้จะไม่ได้วันอภิปราย 5 วัน แต่เราก็ได้ชั่วโมงตามที่เราต้องการคือ 45 ชั่วโมง”

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วย สำหรับระบบการอภิปรายจะมี 3 ระบบ 1.อภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2.อภิปรายพ่วง 2 คน โดยมีเป้าหลักและเป้ารอง และ 3.อภิปรายพ่วง 3 คน โดยผู้อภิปราย 1 คน สามารถอภิปรายรัฐมนตรีได้หลายคนและหลายรอบ แต่สามารถอภิปรายรัฐมนตรีคนนั้นๆ ได้แค่ครั้งเดียว 


ส่วนกรอบเวลาอภิปรายในแต่ละวัน ฝ่ายค้านจะจัดให้สมดุลอย่างน้อยวันละ 11 ชั่วโมง ขณะที่รัฐบาลวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์มีฝ่ายค้านอภิปรายฝ่ายเดียว หรือ รัฐบาลต้องมาตอบพร้อมกันในวันเดียว ต้องกระจาย

 

สำหรับรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมี 11 คน ประกอบด้วย


1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


4.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี


5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


6.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


7.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


8.นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


9.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง


10.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


11.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน