'ชัชชาติ'แจงชัด ที่มาบ้านหรู 72 ล้านในอเมริกา เป็นชื่อลูกชาย ตรวจสอบได้

15 มิ.ย. 2565 | 06:30 น.

'ชัชชาติ' เคลียร์ชัดกรณีโลกออนไลน์ว่อนภาพบ้านหรูในซีแอตเทิล แจงที่มาเป็นบ้านที่ซื้อจากเงินขายที่ดินมรดก มูลค่าตอนซื้อประมาณ 49 ล้านบาท ปัจจุบันราคาราว 72 ล้าน ซื้อในนามภรรยาก่อนโอนให้บุตรชายเมื่อเรียนจบ ยันมีหลักฐานทุกขั้นตอน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ เผยแพร่ทางช่อง Mcot HD 30 วันนี้ (15 มิ.ย.) กรณีโลกออนไลน์มีการแพร่ภาพ บ้านหรู เป็นบ้านเดี่ยวสองชั้น 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ และมีสวนหย่อมหน้าบ้าน ราคา 72 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า บ้านหลังนี้มีชื่อ นายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ หรือ "น้องแสนดี" บุตรชาย เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง


โดยก่อนหน้านี้ บ้านหลังดังกล่าวได้รับการโอนจากนางปรมินทร์ทิยา สิทธิพันธุ์ (ชื่อเดิมปิยดา) มารดาของนายแสนปิติ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการประเมินราคาจากฐานภาษี ที่ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 58 ล้านบาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72 ล้านบาท

นายชัชชาติซึ่งเพิ่งกลับจากซีแอตเทิลหลังไปร่วมงานรับปริญญาของบุตรชายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบายว่า ราว 7 ปีก่อน เขาได้รับมรดกที่ดินย่านพระราม 4 ที่มารดา (นางจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์) ยกให้คนละ 1 ไร่ กับนายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ (พี่ชายฝาแฝดของนายชัชชาติ) สินทรัพย์ส่วนนี้เคยแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว ต่อมามีคนขอซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นช่วงที่นายแสนปิติกำลังย้ายไปเรียนที่สหรัฐพอดี โดยมีการวิเคราะห์ว่า อสังหาริมทรัพย์ขณะนั้นที่สหรัฐยังไม่แพงมาก ซึ่งเงินจากการขายที่ดินได้ กับเงินที่จะซื้อบ้าน(ในสหรัฐ)เป็นจำนวนมากพอ จึงตัดสินใจซื้อบ้านที่ซีแอตเทิลด้วยราคา 1.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 49 ล้านบาท) เพื่อให้เป็นที่พำนักระหว่างการศึกษาในต่างประเทศและเป็นการลงทุนให้บุตรชาย โดยใส่เป็นชื่อของนางปรมินทร์ทิยา สิทธิพันธุ์ ภรรยาของนายชัชชาติ เนื่องจากนายแสนปิติ ผู้เป็นบุตรชายยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงขณะนั้น

กระทั่งเมื่อนายแสนปิติเรียนจบ มีความคิดว่าจะขายบ้านหลังนี้ แต่ได้รับคำแนะนำจากนายหน้าขายบ้านว่า ให้โอนเป็นชื่อนายแสนปิติก่อนด้วยเหตุผลเรื่องภาษี ซึ่งก็ทำการโอนตามขั้นตอนปกติ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูหลักฐานได้บนออนไลน์ โดยมีหลักฐานตั้งแต่การยื่นแจ้งที่ดินต่อ ป.ป.ช. หลักฐานการโอนที่ดินให้ลูก หลักฐานที่ศาลให้ดูแลเงินก้อนนี้เพราะบุตรชายยังเด็ก ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งการซื้อการโอนที่มีชื่อปรากฏทั้งหมด

 

"เราไม่ได้มีความกังวลในเรื่องการตรวจสอบ ผมอยู่ในจุดนี้พร้อมให้ตรวจสอบ แต่กังวลเรื่องความปลอดภัย ขออย่าเผยแพร่รายละเอียดที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว เป็นเรื่องความปลอดภัย หากต้องการส่งต่อรบกวนให้ช่วยลบที่อยู่ออก" นายชัชชาติกล่าว พร้อมอธิบายว่า ระบบของอเมริกามีการบันทึกข้อมูลที่เป็นสาธารณะ สามารถตรวจสอบได้ว่า ซื้อเท่าไหร่ บังเอิญในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เขาไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองจึงไม่มีข้อมูลเหล่านี้บันทึกอยู่ กรณีทรัพย์สินบ้านหลังนี้ไม่ต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช. แต่อย่างใด เนื่องจากเคยแจ้งตั้งแต่การขายที่ดินและได้โอนเงินส่วนนี้ให้ลูก ซึ่งมีรายละเอียดที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. อยู่แล้ว


เมื่อถามว่า มีการโอนชื่อบ้านหลังนี้ให้นายแสนปิติก่อนการลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน นายชัชชาติตอบว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะขายบ้าน แต่เมื่อบุตรชายเรียนจบและเมื่อคิดว่าจะขายบ้าน นางปรมินทร์ทิยา (ภรรยา) ไม่ได้อยู่ที่สหรัฐต่อเนื่องนานกว่า 2 ปี หากขาย(ขณะบ้านเป็นชื่อของภรรยา) จะทำให้ต้องเสียภาษีที่แพงขึ้น จึงได้รับคำแนะนำมาว่าให้โอนบ้านไปเป็นนายชื่อของนายแสนปิติก่อน หากนายแสนปิติเรียนต่อหรืออยู่ต่อเกิน 2 ปี จะทำให้สามารถลดภาษีได้ สูงสุดกว่า 20% ซึ่งนายแสนปิติก็เป็นเจ้าของที่แท้จริง ไม่ใช่ข้อมูลที่ต้องปกปิดอะไร