พรรคร่วมรัฐบาลเหนียวแน่น ดัน“บิ๊กตู่”ไปต่อ

12 พ.ค. 2565 | 04:35 น.

ไทม์ไลน์ประชุมสภาฯ ถกพ.ร.บ.งบประมาณ 31 พ.ค. และ 1-2 มิ.ย. “ฝ่ายค้าน” ขู่เจอ 4 ระเบิดเวลา ถอยหลังเรือแป๊ะ พรรคร่วมรัฐบาล “ปชป.-ภูมิใจไทย” สยบถอนตัวร่วมรัฐบาล ยันไม่ทิ้งกลางคัน ไม่เปลี่ยนขั้ว ดัน “บิ๊กตู่”ไปต่อ

การประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ปี 2565 กำหนดให้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2565 นี้ เป็นต้นไป ล่าสุด “สภาผู้แทนราษฎร” ได้กำหนดวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ออกมาแล้ว

 

นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมวันแรกในวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งจะเป็นการพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว 9 ฉบับ และ ร่างพ.ร.บ.ที่เป็นเรื่องด่วน 13 ฉบับ

 

ในจำนวนนี้เป็นร่างที่เสนอโดยรัฐบาล เพียง 1 ฉบับ ส่วนที่เหลือเป็นร่างเสนอโดย ส.ส. และยังมีเรื่องค้างการพิจารณาที่เป็นร่างเสนอโดย ส.ส. และภาคประชาชน จำนวน 30 ฉบับ 

 

สำหรับการประชุมในวันที่ 26 พ.ค. เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป และกระทู้แยกเฉพาะ จากนั้นจะพิจารณารับทราบรายงานของส่วนราชการต่างๆ จำนวน 23 เรื่อง นอกจากนี้ ประธานสภาฯ ยังนัดประชุมพิเศษ ในวันที่ 27 พ.ค. เนื่องจากยังมีเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 21 เรื่อง

ในสัปดาห์ถัดไป จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระแรก ในวันที่ 31 พ.ค. และ วันที่ 1 - 2 มิ.ย. ซึ่งกำหนดพิจารณาไว้ 3 วัน ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาการพิจารณางบประมาณจะใช้เวลา 3 วัน ดังนั้น ทางประธานสภาฯ จึงเห็นว่า เพื่อให้ส.ส.มีเวลาศึกษาข้อมูลรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ โดยให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งเอกสารร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ และให้ส.ส.มารับเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ซึ่งจะมีเวลาเพียงพอในการศึกษา


กางไทม์ไลน์ซักฟอก 


ก่อนหน้านั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้ออกมาระบุถึงไทม์ไลน์การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า คาดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากร่างพ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวาระ 2 และ 3 ประมาณกลางเดือน มิ.ย. หรืออย่างช้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย. ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ น่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน มิ.ย. หรือต้นเดือน ก.ค.


อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบ คือ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 คาดว่าจะเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ หากกฎหมายงบประมาณ ไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องไป โดยไม่ต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ


นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คือ อายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค. 


“ส่วนเหตุผลที่เรานำกฎหมายลูกมาเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดช่วงเวลายื่นอภิปราย เพราะเราต้องการให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ ก่อนอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ ไม่เช่นนั้นหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ประเทศจะถึงทางตัน ไปต่อไม่ได้” นพ.ชลน่าน ระบุ

                               พรรคร่วมรัฐบาลเหนียวแน่น ดัน“บิ๊กตู่”ไปต่อ


4ระเบิดเวลาเรือแป๊ะ 


ขณะที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ระบุถึงเรื่องที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเผชิญ ว่า รัฐบาลเรือแป๊ะ จะเจอกับระเบิดเวลา คือ 


1.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 หากงบประมาณ ไม่ผ่านสภาฯ ต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา


2.ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อผ่านจะมีแรงกดดันให้ยุบสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ วันนี้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เบอร์คนและเบอร์พรรคคนจะหมายเลข แต่วันนี้เป็นคนละเบอร์


3.ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย วันนี้เรามีข้อมูลพร้อม ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ ไม่ต้องไล่ออก ไม่ต้องยุบสภา ออกโดยกฎหมายให้ออก ถ้าได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ


และ 4.รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ อันเก่าเป็นนายกฯ มาแต่ปี 2557 ตอนยึดอำนาจเขาให้นับรวมด้วย อันนี้เป็นปมที่เรือแป๊ะจะไปยาก ตามระเบิดเวลา 4 ลูก


“แถมเรือแป๊ะยังมีรอยรั่ว 4 รู เพราะพรรคเศรษฐกิจไทยยังไม่รู้จะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แม้แต่พรรคเล็กพรรคน้อย พรรคเศรษฐกิจไทยมี 18 เสียง พรรคเล็ก 12 เสียงเป็นสวิงโหวต ถ้าไม่โหวตให้ เชื่อว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไปไม่รอด” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ


นายประเสริฐ ย้ำว่า สภาล้มลุกคลุกคลาน วันนี้แม้มีเสียงข้างมาก แต่มีเสียงปริ่มน้ำ ฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาลไม่เกิน 240 เสียง สวิงโหวตตรงกลาง ที่พูดคือ มีพรรคเล็กและพรรคเศรษฐกิจไทย สองกลุ่มนี้รวมกันกว่า 30 เสียง รวมฝ่ายไหนเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เรือแป๊ะไปไม่รอด


“บิ๊กป้อม”สยบ“ธรรมนัส”


ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย จะไปร่วมรับประทานอาหาร กับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ตามที่ นายยุทธพงศ์ ออกมาระบุนั้น บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 ยืนยันว่า ไม่มี เขาไม่ไป  


"ร.อ.ธรรมนัส โทรมาบอกกับผมแล้ว ว่า ไม่ไป ทำงานเพื่อประชาชนดีกว่า ทุกฝ่ายทำงานเพื่อประชาชน ไม่ต้องห่วง” พล.อ.ประวิตร ระบุ


เมื่อถามย้ำว่ายังเหลือเวลาอีกหลายวันก่อนถึงวันนัด มีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจได้หรือไม่ พล.ประวิตร ปฏิเสธ ตอบคำถามดังกล่าว


ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผอ.พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงโหวตสนับสนุนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า น่าจะเกิน 250 เสียง ถึงอย่างไรก็ไม่มีปัญหา 
เมื่อถามว่าในส่วนของเสียงพรรคเล็กที่จะโหวตให้รัฐบาลมีจำนวนเท่าไหร่ นายสุชาติ กล่าวว่า "ครบหมด"

 

ส่วนในอนาคตจะมีตัวแปรทำให้เสียงเปลี่ยนหรือไม่ นายสุชาติ ตอบว่า ไม่น่ามีอะไร เพราะการเมืองอยู่ที่รัฐบาล  หรือนายกฯ ไปทำอะไรทุจริตหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ไม่มี ทุกอย่างก็คลีน ส่วนรัฐมนตรีคนไหนผิดพลาดหรือพลาดพลั้ง ก็ต้องชี้แจงให้ได้ 


ส่วนจะมั่นใจได้อย่างไรกับพรรคเล็ก เพราะคุยกับทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน นายสุชาติ กล่าวว่า "เราก็ต้องมีกระแสจิตรู้กันว่าใครคิดอะไร คนที่คบกับเรา เมื่อโทรหาเราเรารับสายหมด ทุกเรื่องทุกปัญหาเราแก้ให้หมด ไม่ใช่เรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องนู้นเรื่องนี้ เรื่องนโยบายพรรคปรึกษาเราเราทำให้หมด แต่ถ้าเราเป็นคนใช้ไม่ได้ โทรหาเราแล้วไม่รับสายเราไม่ว่ากัน แต่นี่เราไม่เคยไม่รับสายสักครั้ง แล้วจะมีเหตุผลใดที่จะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน"


ปชป.ไม่ทิ้งกลางคัน


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกระแสข่าวปชป.จะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่า เรารู้หน้าที่ดี เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องทำหน้าที่ในการที่จะสนับสนุนรัฐบาล ในการที่จะให้เดินหน้าทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศกับประชาชนต่อไปให้ดีที่สุด


“วันนี้ก็มีปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 ก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว วิกฤติเศรษฐกิจก็เป็นทั่วโลก และปัญหาการเมืองมันก็ซ้ำซ้อนเข้ามา สงครามยูเครน-รัสเซีย ก็ซ้ำซ้อนเข้ามา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจับมือกัน ที่จะเข้าไปแก้ปัญหา เพราะถ้าไปทิ้งกลางคัน ก็ไปสร้างปัญหาอีกมุมหนึ่ง 
เพราะฉะนั้นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ทำงานร่วมกับรัฐบาล ก็ต้องสนับสนุนรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์มีหลักชัดเจน ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลเราก็มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ผมได้ย้ำอยู่เสมอ เรารู้หน้าที่ของเรา ว่าเราต้องทำอะไร” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว


“อนุทิน”ยันไม่เปลี่ยนขั้ว  


เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขในฐานะ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี นายวันชัย สอนศิริ วุฒิสภา ออกมาทำนาย พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ อาจเปลี่ยนขั้วทางการเมืองว่า ไม่มี  ถ้าไปเปิดร้านหมอดูก็เจ๊งกันหมดพอดี 


“เปลี่ยนขั้วได้อย่างไร อยู่กันมาถึงขนาดนี้ การทำงานก็เป็นไปได้ด้วยดี ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายทุกคนเคารพกติกา”  


เมื่อถามว่าเสียงรัฐบาลยังมี 270 เสียงหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า เสียงรัฐบาลเท่าไหร่ไม่รู้ แต่เสียงพรรคภูมิใจไทยมีหลายเสียงอยู่ พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาล และ นายกฯ พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องที่ถูกต้อง