ย้อนรอยคดีโรดโชว์"ยิ่งลักษณ์" 240 ล้าน

19 เม.ย. 2565 | 05:39 น.

ย้อนรอยคดีโรดโชว์ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร " 240 ล้าน ก่อนศาลฎีกาออกหมายจับ หนีศาล โดยไม่แจ้งเหตุ พร้อมนัดตรวจพยานคดีฯ

 จากกรณีที่ วันนี้ (19 เม.ย.65)  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี   นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)  บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)   และ นายระวิ โหลทอง กรรมการบริษัท สยามสปอร์ตฯ    


ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง   โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020  อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ บริษัท มติชนฯ  และ บริษัท สยามสปอร์ตฯ จัดทำโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา และทำหนังสือขอขยายระยะเวลาคำให้การ   ศาลได้อนุญาตและได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 กันยายน  2565  เวลา 9.30 น. พร้อมออกหมายจับ  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่แจ้งเหตุ  และให้ ป.ป.ช.ดำเนินการติดตามตัวให้มารับฟังคดี  

 

 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 ย้อนรอยคดีโรดโชว์


สำหรับที่มาของคดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ป.ป.ช. กล่าวหาว่า ในช่วงปลาย ส.ค.56 ถึง 12 มี.ค.57   จำเลยที่ 1-3 (น.ส.ยิ่งลักษณ์- นายนิวัฒน์ธำรง- นายสุรนันทน์)  ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และ 5 ( บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) , บริษัท สยามสปอร์ต ) ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

 

คดีดังกล่าว จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 จำนวน 12 จังหวัด โดยยังไม่ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา จำเลยที่ 3 เสนอ และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง 40 ล้านบาท ทั้งที่มิใช่กรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน

 

ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการที่จังหวัดหนองคายและนครราชสีมา ในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 3 ครอบงำจูงใจให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษยอมรับการเสนอราคาของจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เสนอ และจำเลยที่ 2 อนุมัติจ้างย้อนหลัง
 

ส่วนโครงการที่เหลืออีก 10 จังหวัด วงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท จำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการโดยวิธีพิเศษ ต่อมาจำเลยที่ 2 อนุมัติตามที่จำเลยที่ 3 เสนอให้จ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้า อีกทั้งจำเลยที่ 3 ยังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติด้วย

 


ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ… ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้โครงการที่จะเกิดขึ้นตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มิอาจเกิดขึ้นได้ โครงการ Roadshow เกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 239,700,000 บาท


จึงขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12,13 ลงโทษจำเลยที่ 4-6 ในฐานะผู้สนับสนุน ทั้งนี้ จำเลยที่ 2, 3, 5 และ 6 เดินทางมาศาล  และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

 

กระทั่งวันนี้ ศาลฎีกานักการเมืองนัดตรวจพยานคดีโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย ในวันที่ 12 ก.ย.65 หลังจำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมออกหมายจับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และให้ป.ป.ช.ติดตามตัวมารับฟังคดีดังกล่าว

 

ทั้งนี้ โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตไทย  เป็นนโยบายรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการนำเสนอนโยบายสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายเรื่องโดยการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ….. หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน โดยใจความสำคัญของโครงการคือ ทำให้เกิดการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ