เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประวัติความเป็นมาและสถิติน่ารู้

30 มี.ค. 2565 | 23:39 น.

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดย 31 มี.ค. เป็นวันแรกของการรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภากทม. หนทางก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งยังอีกยาวไกล ระหว่างนี้ เรามาอุ่นเครื่องด้วยการย้อนประวัติการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในอดีตกันไปพลางๆ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยวันนี้ (31 มี.ค.2565) เป็นวันแรกของการเปิดรับสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีแคนดิเดตเตรียมลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เปิดตัวรอแล้วร่วมสิบราย ทั้งในนามพรรคการเมืองและในนามอิสระ

 

การหาเสียงแถลงนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนกำลังจะเริ่มขึ้น ศึกครั้งนี้ยังอีกยาวไกลจนกว่าจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง “ฐานเศรษฐกิจ” ของนำท่านผู้อ่านอุ่นเครื่องด้วยการย้อนอดีตทำความรู้จักความเป็นมาของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสถิติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ๆมา จะเห็นได้ว่ามีเพียงไม่กี่พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ แต่ในบางสมัยก็มีผู้สมัครในนามอิสระเบียดเข้ามาสร้างสีสันเป็นทางเลือกใหม่  

 

“ธรรมนูญ เทียนเงิน” ผู้ว่าฯกทม.คนแรกจากการเลือกตั้ง

แต่เดิมตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ถือเป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ส่วนการ “เลือกตั้ง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการหย่อนบัตรเลือกตั้งของประชาชนนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี

นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯกทม.คนแรกจากการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518  ซึ่งครั้งนั้น นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน โดยในครั้งแรกนี้ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 13.86%  ผู้สมัครอีกคนที่น่าสนใจคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หัวหน้ากองวิชาการ ก.พ. ที่เพิ่งลาออกมาเข้าสู่วงการเมืองเป็นครั้งแรกในนาม “พรรคพลังใหม่”  ดร.อาทิตย์ได้รับคะแนนเสียงในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นจำนวนมาก แต่พ่ายแพ้คะแนนในเขตชั้นนอก เช่น เขตหนองแขม และมีนบุรี ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์โดยรวมสูงถึง 80% ทำให้ นายธรรมนูญ เทียนเงิน คว้าชัยชนะ

 

อย่างไรก็ตาม นายธรรมนูญไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ จนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520 และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ “ปลด” นายธรรมนูญ กรุงเทพมหานครก็มีผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งอีก 4 คน

 

จนกระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 2 ขึ้นในปี พ.ศ. 2528 หรือราว 10 ปีให้หลังนับจากครั้งแรก

การหย่อนบัตรเลือกผู้ว่าฯ กลับมาอีกครั้ง

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่สองนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 34.65%

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯที่มีเพลงประจำตัว

 ต่อมา วันที่ 7 มกราคม 2533 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งในนาม “พรรคพลังธรรม” ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 35.85% ครั้งนั้นมีผู้สมัครอิสระคือ นายนิยม ปุราคำ อดีตเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ได้รับคะแนนสูงกว่า 10,000 คะแนน อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม.ด้วยคะแนนล้นหลาม (กระทั่งมีการแต่งเพลงมอบให้โดยแอ๊ด คาราบาว ชื่อเพลง “มหาจำลองรุ่น7”) แต่พล.ต.จำลอง ก็อยู่ดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ ประกาศลาออกไปเล่นการเมืองสนามใหญ่เสียก่อน

 

19 เมษายน 2535 ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. และเป็นบุคคลที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแทน แต่ไม่สังกัดกลุ่มใดๆ (ซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า พล.ต.จำลอง ให้การสนับสนุน  ร.อ.กฤษฎา) ได้คะแนนมา 363,668 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเพียง 23.02%

 

การเลือกตั้งครั้งนั้น มีแคนดิเดตเด่น ๆ จากพรรคประชาธิปัตย์ลงแข่งขันด้วย คือ ดร.พิจิตร รัตตกุล บุตรชายของนายพิชัย รัตกุล แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ ร.อ.กฤษฎา เพราะคนกรุงเทพฯยังไว้ใจผู้สมัครที่พล.ต.จำลองให้การสนับสนุน

 

3 มิถุนายน 2539 ดร.พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่ได้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  เลือกใช้ชื่อ “กลุ่มมดงาน” ปรากฎว่าได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 43.53% ครั้งนี้มีผู้สมัครมากถึง 29 คน ที่สำคัญคือ มีอดีตผู้ว่าฯกทม. 2 คนลงชิงชัยด้วย นั่นก็คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา แต่ผลนับคะแนนปรากฎว่า รอบนี้ ดร.พิจิตต ที่เคยพ่ายแพ้ยับ พลิกกลับมาท็อปฟอร์ม สามารถคว้าคะแนนมากกว่า พล.ต.จำลอง เกิน 2 แสนคะแนน และมากกว่า ร.อ.กฤษฎา กว่า 5 แสนคะแนน ซึ่งนักวิเคราะห์การเลือกตั้งชี้ว่าเป็นเพราะพล.ต.จำลอง และ ร.อ.กฤษฎา ลงแข่งขันตัดคะแนนกันเอง

 

ผู้ว่าฯที่ได้รับคะแนนเสียงทะลุล้านคนแรกคือ....

23 กรกฎาคม 2543 นายสมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้คะแนนเสียงท่วมท้น 1,016,096 คะแนน สร้างสถิติใหม่คือเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ได้รับล้านคะแนนเป็นรายแรก และมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 58.87%  ผู้ว่าฯสมัครอยู่ในตำแหน่งจนครบ 4 ปี ครั้งนั้นมีผู้สมัครทั้งหมด 23 คน ทั้งสังกัดพรรคการเมืองและอิสระ ซึ่งผู้สมัครที่โดดเด่นมีหลายคน อาทิ

  • นายธวัชชัย สัจจกุล (บิ๊กหอย) ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์
  • นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคไทยรักไทย
  • นางปวีณา หงสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร จากพรรคชาติพัฒนา

 

รวมถึงผู้สมัครอิสระ อาทิ พันเอก วินัย สมพงษ์ หมายเลข 2, พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร หมายเลข 10 และ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช หมายเลข 4 เป็นต้น

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯกทม.คนแรกที่ได้คะแนนเสียงทะลุล้าน

การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่น่าประทับใจ โดยในระหว่างการหาเสียง นายสมัครไม่ร่วมประชันวิสัยทัศน์กับผู้สมัครคนอื่น ๆ ไม่ว่ารายการไหนหรือเวทีไหนก็ตาม ด้วยถือว่ามีอาวุโสทางการเมืองสูงกว่ามาก นโยบายที่จะให้การค้าขายแผงลอยบนทางเท้าเป็นไปโดยเสรีตลอดทั้งสัปดาห์ ได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เขาใช้คำขวัญในการหาเสียงว่า "ถ้าจะใช้ผม กรุณาเลือกผม”

 

29 สิงหาคม 2547  นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน สังกัดประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาล ได้คะแนนเสียง 911,441 คะแนน ชนะนางปวีณา หงสกุล ผู้สมัครอิสระ ที่มีพรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ได้รับคะแนน 619,039 คะแนน อย่างไรก็ตามในปีนี้ มีผู้สมัครดาวเด่นค่อนข้างเยอะ อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง , นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ , ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ , ดร.พิจิตต รัตตกุล , ดร.มานะ มหาสุวีระชัย , ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ , นายพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ และนางลีนา จัง

 

5 ตุลาคม 2551 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาอีกรอบด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน แต่อยู่ไม่ครบวาระ ต้องลาออกหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน แต่อยู่ในตำแหน่งไม่ครบวาระเพราะประกาศลาออกก่อนครบวาระ 4 ปี เพียง 1 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

 

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ทำสถิติคะแนนเสียงนิวไฮ

วันที่ 3 มีนาคม 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์และทำลายสถิติที่นายสมัครเคยทำไว้เมื่อปี 2543  โดยคู่แข่งหลัก คือพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ได้ 1,077,899 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 2 (และทำลายสถิติของนายสมัครเช่นกัน) อีกทั้งสถิติของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดยังสูงถึง 63.38% นับว่ามากที่สุดกว่าครั้งไหน ๆที่เคยมีมา  ซึ่งรอบนี้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีทางเลือก เนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขู่ว่าหากไม่ส่งลงสมัครในนามพรรค จะลงในนามอิสระ พรรคจึงต้องส่งลงเพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง

 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อยู่ไม่ครบสมัยเนื่องจากวิบากกรรมตัดรอน หลังเจอข้อครหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟกทม.

 

ผู้ว่าฯที่ถูกปลดและแต่งตั้งโดยคสช.

วันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ออกคำสั่งให้พักงาน และต่อมา 18 ตุลาคม 2559 หัวหน้าคศช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่ง และในวันเดียวกันนั้น มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

กระทั่งล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2565 ด้วยเช่นกัน แต่จะได้กลับมาสมความตั้งใจหรือไม่นั้น อีกไม่นานก็คงรู้คำตอบ

 

เรามาลุ้นไปด้วยกัน!