“นิพนธ์”ชวนอปท.ทำบุญช่วยชีวิตคนด้วยการลดอุบัติเหตุทางถนน

26 มี.ค. 2565 | 08:10 น.

“นิพนธ์”ชวน อปท.ทำบุญช่วยชีวิตมอบนโยบายความปลอดภัยทางถนน “สงขลาเมืองต้นแบบ” ชี้ท้องถิ่นคือกลไกหลักขับเคลื่อนงาน ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุเหลือ 12 คน/แสนประชากร ในปี 2570

วันที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานประชุมมอบนโยบายตามโครงการความปลอดภัยทางถนน “สงขลาเมืองต้นแบบ” พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอ และตำบล 

 

โดยมี  นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจง) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ท้องถิ่นจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการ และ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานประชุมมอบนโยบายฯ 

จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคใต้ และมีศักยภาพในด้านต่าง ๆ อย่างสูง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนยังเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่ง และยังคงมีสถิติค่อนข้างสูง จังหวัดสงขลาโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกระดับ 

                                            “นิพนธ์”มอบนโยบายลดอุบัติเหตุทางถนน

โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี  2570 หรือ 12 คนต่อแสนประชากร 


มีการจัดทำแผนการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 


เมื่อพิจารณาข้อมูลจากระบบบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดสงขลา (ข้อมูล 3 ฐาน) ในปี 2564 พบว่าจังหวัดสงขลา มีผู้บาดเจ็บ (admit) จำนวน 3,001 คน ผู้เสียชีวิต จำนวน 284 คน คิดเป็น 19.88 คนต่อแสนประชากร สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่และการไม่มีวินัยจราจร และรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด


นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนพัฒนายุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยทางถนน ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยใช้กลไกของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เชื่อมโยงการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างรอบด้าน ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์และสภาพปัญหา พร้อมบังคับใช้กฎหมาย ด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้น 

                                          
การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนงานโครงการและแผนงบประมาณในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอำเภอ และจังหวัด และนำไปบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นได้ 


สำหรับโครงการ “สงขลาเมืองต้นแบบ” พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอ ตำบล และท้องถิ่น ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก ด้านความความปลอดภัยทางถนนของในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันและกระตุ้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการจัดการความรู้ ถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่นต่อไป


นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกในปี 2559 พบสถิติคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน กว่า 22,400 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสงคราม หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 6,000 ราย แต่อุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนแค่ปีเดียวกลับมียอดสูงถึงกว่า 20,000 ราย 


ฉะนั้น ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย จากข้อมูล 3 ฐาน ในปี 2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวนกว่า 13,000 ราย ส่วนอุบัติเหตุสะสมของประเทศไทย ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,467 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 205,343 ราย 

                                            
สำหรับข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2565 มีผู้เสียชีวิต 42 ราย บาดเจ็บ 2,084 ราย สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก


ส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงให้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573


ดังนั้น การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเป็นวาระมีความสำคัญระดับโลก รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในประเทศไทยปี  2561 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 32.70 (มากกว่า 22,000 คนต่อปี) 


ทั้งนี้ทั้งนั้น สถิติตั้งแต่ปี 2561 -2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็มีแนวโน้มลดลงกว่า 1,000 ราย/ปี จากความพยายามในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่แม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย ก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ 


ในส่วนของบังคับใช้กฎหมายตนอยากให้มีการประชุมถกเถียงข้อมูลกันเป็นประจำทุกเดือน ในพื้นที่ควรการตั้งด่าน จุดตรวจต่างๆ  การแก้ไขวินัยจราจร ควรเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ ตั้งแต่ครอบ โรงเรียนควรปลูกฝังเด็กเล็กตั้งแต่เด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก มาจนถึงระดับท้องที่ ท้องถิ่น สู่ระดับประเทศต่อไป สร้างด่านครอบครัว ด่านชุมชน ด่านโรงเรียน ให้ความรู้เรื่องวินัยจราจร เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนนให้ได้มากที่สุดทุกทางที่จะดำเนินการได้ ตนมองว่าท้องถิ่นเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว โดยควรบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งงบประมาณไว้สำหรับการบริหารจัดการตามแผนงาน โครงการต่อไป 

                                      “นิพนธ์”มอบนโยบายลดอุบัติเหตุทางถนน

สำหรับการประชุมในวันนี้นอกจากจะได้ติดตามและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่แล้วนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของพื้นที่

 

หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอและท้องถิ่นบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย 100%” ได้ต่อไป

 

นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชวนท้องถิ่นร่วมทำบุญช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ลดการเสียชีวิตบนท้องถนน  ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง และการแก้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป