“กรณ์”แอ่ว“โหล่งฮิมคาว”สันกำแพง จ่อลุยสอนออนไลน์ชาวบ้าน

07 มี.ค. 2565 | 03:11 น.

“กรณ์” แอ่วเหนือ เตรียมความพร้อมผู้สมัคร คุยผู้ประกอบการ “ชุมชนโหล่งฮิมคาว” สันกำแพง เตรียมลุยสอนชาวบ้านขายออนไลน์   เสนอรัฐบาลตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีชุมชน” ทุกตำบล ช่วยเศรษฐกิจคนตัวเล็ก  


วานนี้ (6 มีนาคม 2565) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วย นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวพรรค และทีมงาน เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดตัวแทนเขตเมือง และเตรียมความพร้อมผู้สมัครโดยชูเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ จากนั้นได้ เข้าเยี่ยมชม กาดต่อนยอน หรือกาดฉำฉา ที่ชุมชน “โหล่งฮิมคาว" อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ ชาวบ้าน และเยาวชนที่สนใจ เพื่อรับฟังปัญหา ตลอดจนให้คำแนะนำถึงแนวทางการยกระดับสินค้าชุมชน ผ่านการขายออนไลน์ในรูปแบบของ KOL โดย ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย 

 

 

 ชุมชนโหล่งฮิมคาว เป็นชุมชนสร้างสรรค์ มีสินค้าท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบ ทั้งสินค้าทำมือ หัตถกรรม ผสมผสานกับภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีความละเอียดประณีต มีอัตตลักษณ์ความเป็นล้านนา โดยส่วนตัวแล้วก็ซื้อมาหลายชิ้น และจากการพูดคุยกับคุณชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานชุมชน ทราบว่าก่อนจะมีสถานการณ์โควิด ก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ก็ให้ความนิยมมาท่องเที่ยว ซื้อของ และรับประทานอาหารที่ร้าน “มีนา” ซึ่งเป็นอาหารตำรับชาวเหนือ รสชาติอร่อยราคาไม่แพง 
 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคกล้าให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน และได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุด นายวรวุฒิ อุ่นใจ ก็ได้เดินทางไปจังหวัดสงขลา เพื่อจัดกิจกรรมสอนชาวบ้านขายออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ โดยเชิญวิทยากรมาช่วยอบรมให้ฟรี และจะขยายผลไปในหลายพื้นที่ โดยมองว่าชาวบ้านเก่งการผลิตแต่ยังขาดทักษะในการขาย สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เป็นการผลิตแบบเดิม ๆ และผ่านพ่อค้าคนกลาง ถูกกดราคา จึงทำให้ยิ่งทำยิ่งจนทั้งที่เป็นเจ้าของผลผลิตแต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน ชาวบ้าน ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่ได้เข้าร่วมการพูดคุยในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้ฟังว่า ชาวสวนลำไย ขายสินค้าผ่านล้งได้กิโลกรัมละ 3 บาท ในขณะที่ค่าแรง 5 บาท ไม่รวมค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าแมลง ชาวสวนหลายคนเลยไม่เก็บปล่อยทิ้ง เพราะทำไปก็ขาดทุน เช่นเดียวกับชาวนา ผลิตข้าวได้ 1 ไร่ ต่อ 1 ตัน ขายข้าวผ่านพ่อค้าคนกลางได้กิโลกรัมละ 5 บาท หรือ ประมาณตันละ 5,000 บาท แต่พ่อค้าเอาไปขายกิโลกรัมละ 30-50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่างกันมากชาวนายิ่งทำยิ่งจน หลายคนจึงคิดขายที่ดิน

 

หัวหน้าพรรคกล้า ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยได้ยกตัวอย่างการทดลองทำข้าวอิ่ม ข้าวอินทรีย์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวนา จ.มหาสารคามให้ขายข้าวได้ตันละ 20,000 – 25,000 บาท ต่อเนื่องมา 8 ปี แล้ว โดยสร้างความแตกต่างเป็นข้าวพรีเมี่ยมออกแบบแพคเกจโดยใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้า จากนั้นก็นำเข้าสู่ตลาดการขายออนไลน์ เพิ่มช่องทางการจำหน่าย 
 

โหล่งฮิมคาว  ชุนสุดอาร์ตกำแพงแสน

ด้านนายวรวุฒิ กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้กับ เกษตรกร ผู้ประกอบการ เราต้องได้รัฐบาลที่เข้าใจและต้องช่วยเหลือโดยการสร้างโอกาสพวกเขา ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดีที่สุดแค่ การประกันราคา หรือจำนำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด สปอยเกษตรกร สุดท้ายปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข เกษตรกรยิ่งทำยิ่งจน ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สักที ครั้นจะแปรรูปผลผลิตเป็นสินค้าชุมชน ก็ขาดเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผู้ประกอบการหลายรายต้องเป็นหนี้นอกระบบ 

 

“สิ่งที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้ คือ ต้องสอนให้เขาขายออนไลน์เป็น และสินค้าก็ต้องการพัฒนายกระดับให้สามารถแข่งขันได้ วันนี้จีนเป็นประเทศพ้นความยากจนได้เพราะการขายสินค้าออนไลน์ในรูปแบบ KOL ซึ่งผมก็เชื่อว่า ผลผลิตสินค้าไทย ตลอดจนศักยภาพของเกษตรกร ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก เพียงแต่เราขาดการบริหารจัดการที่ดี

 

ดังนั้น นอกเหนือไปจากการสนับสนุนให้มีสินค้าโอท็อปแล้ว รัฐบาลควรตั้ง "ศูนย์เทคโนโลยีชุมชนทุกตำบล" เพราะการขายออนไลน์ เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ และถ้าชาวบ้านค้าขายเป็น เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างแน่นอน” รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าว