"ดร.เอ้" ชี้ กทม.ต้องสร้างเขื่อนสองชั้น แก้บ้านริมคลองทรุดตัว

15 ก.พ. 2565 | 07:36 น.

“ดร.เอ้ สุชัชวีร์” ตั้งเป้าแก้ปัญหาคลอง ชี้ กทม. ควรสร้างเขื่อนสองชั้น แก้เรื่องทรุดตัว ทำบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างริมคลองเสียหาย แนะเพิ่มระบบปั๊มน้ำ เปลี่ยนน้ำเน่าเป็นน้ำดี

วันที่ 15 ก.พ. 2565 นายสุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่เขตคลองสาน พร้อมกับ นายสมชาย  เต็มไพบูลย์กุล ผู้สมัคร สก. เขตคลองสาน และ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โดยได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก จากบริเวณริมห้างสรรพสินค้าติดแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมระบุถึงสาเหตุที่ตนให้ความสนใจเรื่องคลอง เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองน้ำ อยู่กับน้ำมาโดยตลอด เมื่อน้ำคือชีวิต จึงมีความมุ่งมั่นว่า ถ้าเราเปลี่ยนจากน้ำเน่า เป็นน้ำดี น้ำท่วมเป็นน้ำไม่ท่วม น้ำทะเลหนุนเป็นน้ำทะเลหนุนที่เราควบคุมได้ ก็จะทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นทันที 

 

จากการลงพื้นที่คลองสาน ส่วนตัวรู้สึกตกใจ เพราะเห็นว่าเป็นย่านที่เจริญ มีห้างสรรพสินค้าที่สุดยอดของประเทศ มีคอนโดมิเนียมที่แพงที่สุดหลายแห่ง มีโรงแรมระดับ 5 ดาวจำนวนมาก แต่สภาพคลองวัดทองเพลงที่อยู่ติดกับสถานที่ชั้นนำเหล่านั้น มีสภาพเน่าเสีย
 

นายสุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่เขตคลองสาน แก้ปัญหาบ้านริมคลองเสียหาย

นายสุชัชวีร์ ยังได้วาดแผนที่ในบริเวณคลองวัดทองเพลง ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 1 กม. ปัจจุบันมีสภาพเน่าเสียตลอดทั้งเส้น เช่นเดียวกับที่เขตบางพลัด และบางคอแหลม ซึ่งเป็นผลจากความตั้งใจดี แต่คิดไม่ครบ ทำงานไม่จบ เนื่องจากเมื่อมีการสร้างเขื่อนแล้วแต่น้ำในคลองไม่หมุนเวียน ส่งผลให้น้ำในคลองมีสภาพเน่าเสียดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยระบบปั๊มน้ำและประตูระบายน้ำอัตโนมัติ ให้น้ำดีไหลเข้าในช่วงน้ำขึ้น และไล่น้ำเสียออกในช่วงน้ำลด เมื่อคลองเกิดการหมุนเวียนก็จะทำให้น้ำในคลองสะอาดขึ้น 

 

“ถ้าน้ำนิ่งก็จะกลายเป็นน้ำเน่าทันที บ่อปลาที่บ้านเรานิ่งเฉยๆ น้ำยังเน่าได้เลย นับประสาอะไรกับคลอง ที่น่าตกใจก็คือ ตอนนี้อยู่ที่ต้นคลองติดกับห้างใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าเขื่อนพังหมดเลย เราจะเห็นอย่างนี้หลายคลองในกรุงเทพฯ ถ้าปล่อยไว้ไม่เฉพาะคลอง แต่จะมีบ้านเรือนริมคลองจะร้าวได้” 

 

นายสุชัชวีร์ ได้วาดรูปเพื่ออธิบายให้เห็นภาพว่า กทม. ในอดีตจะก่อสร้างเขื่อนริมคลองชั้นเดียว และหลังเขื่อนจะมีการก่อสร้างบ้านเรือนต่างๆ เมื่อเกิดฝนตกทำให้พื้นที่ตั้งแต่บริเวณริมเขื่อนถึงเขตบ้านเรือนเกิดการทรุดตัว ส่งผลให้เขื่อนริมคลองทรุดตัว และจะส่งผลต่อบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างริมคลองให้ได้รับความเสียหายต่อไป 
 

จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เสียงบประมาณซ้ำซาก และทำให้คลองสะอาด ชาวบ้านอยู่ได้อย่างปลอดภัยว่า กทม. ควรสร้างเขื่อนสองชั้น ซึ่งจากการคำนวนทางวิศกรรมพบว่า มีความแข็งแรงกว่าหลายเท่า สามารถทำเป็นทางเดิน หรือทางจักรยานด้านบนได้ ไม่ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก

 

“ตรงนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ มีโอกาสเมื่อไหร่ ผมจะมาแก้ไข เพราะเวลาพังไปแล้ว มันทำให้บ้านเรือนข้างเคียงถ้ามีรอยร้าวขึ้นมาจะกลายเป็นว่าเราต้องมาซ่อมให้เขา มันเดือดร้อนชาวบ้านและเสียงบประมาณส่วนรวมในการดูแลซึ่งมีราคาแพง ซ่อมแพงกว่าสร้างอีก ผมตั้งใจที่จะมาเปลี่ยนกรุงเทพฯ จริงๆ ตั้งใจจะใช้ความรู้ความสามารถที่พอมี มาช่วยแก้ปัญหาที่ซ้ำซาก ไม่อยากส่งปัญหานี้ถึงผู้ว่าฯ คนต่อไป ไม่อยากให้ลูกหลานเราต้องมาเจอแบบนี้อีก”นายสุชัชวีร์ กล่าว