“อนุทิน”ยันไม่ถอย ปม“สายสีเขียว” พร้อมถกในครม.รอบหน้า

10 ก.พ. 2565 | 04:24 น.

"อนุทิน"ยันสัมพันธ์พรรคร่วมไร้ปัญหา ย้ำเหตุไม่ร่วมประชุม ครม. เลี่ยงปะทะคารมปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันถกครม.รอบหน้าถ้ามีโหวตอีกไม่ลาแล้ว ส่วนจะจับมือการเมืองกับ"ธรรมนัส"หรือไม่ ต้องรอหลังเลือกตั้ง

วันที่ 10 ก.พ.2565  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการ "มุมการเมือง" ทาง ThaiPBS กรณี 7 รัฐมนตรีบอยคอตค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยืนยันความสัมพันธ์ กับพรรคร่วมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ไม่มีปัญหา สิ่งที่แสดงออกไปเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน การทำงานยังเป็นมืออาชีพ ไม่เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ เพราะการทำงานร่วมกันมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติของการทำงานเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องความสัมพันธ์ หรือขัดแย้งใดๆ ทำงานได้ตามปกติ เรื่องอื่นๆนายกรัฐมนตรียังคงสั่งงาน และได้รายงานนายกรัฐมนตรี ตามปกติ ส่วนจุดยืนโหวตเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เราไม่ได้ขัดแย้งที่จะให้ปรับแก้สัญญารถไฟฟาสายสีเขียว แต่กระทรวงคมนาคมมีข้อกังวลที่ขอให้ปรับปรุง ชี้แจง ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคม ทำหนังสือไป


 
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะที่ปฏิกิริยางัดข้อของพรรคภูมิใจไทย จะกลายเป็นระเบิดลูกใหม่ของรัฐบาลหรือไม่นั้น เวลาไม่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ก็ถูกว่า ถูกตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เวลาปกป้องก็ผิดอีก ก็จะไม่ใช่การทำงาน ตนไม่ใช่พวกลากมากไป ไม่ต่างจากระบบสภา ถ้าถึงเวลาจริงๆตกลงกันไม่ได้ ความเห็นขัดแย้ง ทิศทางยังจูนกันไม่ได้ ก็จะใช้วิธีโหวต ตามระบอบประชาธิปไตย และเมื่อผลโหวตออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องตามนั้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข

 

"การที่รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม.เพราะเราแจ้งนายกรัฐมนตรี ทุกครั้งว่า ถ้าประเด็นรถไฟฟ้านี้ไม่ได้คำตอบจาก กทม.เราขอสงวนสิทธิ์ เพราะเราไม่อยากโต้เถียง เพราะคนที่ลำบากใจที่สุดคือประธานในที่ประชุม ดังนั้นเมื่อทราบว่าจะมีวาระจรเรื่องนี้บรรจุเข้ามาทันที เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศการประชุม เราเลยถอยออกมา และก็ได้ส่งหนังสือชี้แจงไป" นายอนุทิน กล่าว


 
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการเขียนข่าวกันไปว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ก็ต้องรับมตินั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่เราจะต้องรับมติครม. แต่มีการทำหนังสือให้ความเห็นเป็นการสงวนสิทธิตรงนี้ไว้ และเรา 7 คนคิดว่าถ้าเรื่องนี้มีความสมบูรณ์ ก็น่าจะผ่านไปได้ และเราก็สบายใจที่สงวนสิทธิ์ไม่เข้าประชุม ไม่โต้แย้ง ไม่ถกเกียง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีจดหมายหนังสือ แสดงเจตจำนงต์ ข้อคิดเห็นข้อสังเกต ถึง 8 ฉบับไปแล้ว เราหลีกเลี่ยงการปะทะ ไม่ต้องการโต้คารมกัน แต่ถ้าหากมีการประชุม ครม. เพื่อโหวตครั้งต่อไปนั้น ถ้ามีคำตอบ และดำเนินการตามกฎหมายขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วเราไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายังคงเดิม ก็จะไม่ลาประชุมแล้ว เพราะถือว่าแสดงท่าทีไปแล้วว่าถ้าไม่มีการแก้ไขตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ก็จะใช้สิทธิในการพิจารณา

 

ส่วนกรณีที่ไม่ได้ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมประชุมเอเปคว่า เป็นคนละเรื่องกัน แต่เพราะตนติดประชุม คณะกรรมการยาแห่งชาติ ซึ่งได้เขียนโน๊ตชี้แจงนายกรัฐมนตรีแล้ว ขออย่ามาสังเกตท่าที และในวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.) มีการประชุมศบค.ในเวลา 09.00 น.ที่ตนเป็นเจ้าภาพนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวกับสุขภาพคน ตนก็จะเข้าร่วม ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน เพราะทราบดีว่ามีความสำคัญอย่างไร
 

เมื่อถามถึงกรณีที่ปรากฎภาพไปร่วมประชุมรัฐสภา และประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เจอและพูดคุย กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ถึง 2 วันติดต่อกันนั้น เป็นการเปิดดีลอะไรกันหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนคุยกับใครไม่ได้เลยหรือ ร.อ.ธรรมนัส เข้ามาประชุมในนามพรรคใหม่ และเป็นช่วงจังหวะเวลาไปลงคะแนนในที่ประชุม ระหว่างนั้นทางเดินสายหลักในห้องประชุมสภามีเส้นเดียวเจอกัน จึงทักทายกันปกติ และส่วนตัวเป็นเพื่อนกับร.อ.ธรรมนัสมากว่า 20 ปี ถ้าเทียบก็รุ่นเดียวกัน โดยร.อ.ธรรมนัสเป็น เตรียมทหารรุ่นที่ 25 ตนก็รุ่น 25 มีเพื่อนกลุ่มเดียวกันมากมาย จึงเป็นเรื่องปกติที่เจอกัน เป็นคนละเรื่องระหว่างการทำงานและการเมือง

 

ส่วนโอกาสจะร่วมงานทางการเมืองกับ ร.อ.ธรรมนัส ในอนาคตนั้น ก็ต้องรอดูผลการเลือกตั้ง ยอมรับว่าในทางการเมืองเวลาฟอร์มทีมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องรอผลหลังการเลือกตั้ง คิดไว้ก่อนไม่ได้ ตนเคยเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ก่อนเลือกตั้งจับมือกันเป็นพันธมิตรกัน แต่หลังเลือกตั้งผลไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ มือก็หลุด เห็นมาเยอะ จึงไม่มีความวิตกกังวล ทุกอย่างจะชัดต่อเมื่อผลการเลือกตั้งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ อย่าไปผูกมัดอะไร


 
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการเข้าสู่สนามเลือกตั้งในอนาคตว่า มั่นใจทุกพรรคพร้อม เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ทุกคนต้องคิดเรื่องการเลือกตั้ง ต้องมีการเตรียมนโยบาย เพื่อสื่อสารไปยังประชาชน และต้องเร่งผลิตนโยบายที่ทำให้ประชาชนและประเทศพลิกฟื้นได้ทุกมิติ ถ้าไม่พร้อมจะไม่มีนโยบายใดไปขายให้ประชาชน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำได้ครบตามที่พูดไว้