“คมนาคม” ร่ายยาวค้านต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

09 ก.พ. 2565 | 11:48 น.

“คมนาคม” แจงสาเหตุคัดค้าน กทม.-มหาดไทย ชงครม.ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังค้าน 4 เหตุผลไม่คืบ ฟากรฟม.ยันโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ หากชำระหนี้ไม่ครบ ส่อผิดกฎหมาย

นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมเห็นว่าผลการเจรจาและร่างสัญญาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)เสนอคณะรัฐนตรี (ครม.) ยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและทางราชการ

 

เนื่องจากเงื่อนไขการจัดเก็บค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อเป็นผลการเจรจาต่อรองผู้รับสัมปทาน กำหนดจะยกเว้นค่าแรกเข้าเฉพาะระบบเปลี่ยนถ่ายมาจากโครงการฯ ภายใต้ระบบตั๋วร่วมเท่านั้น

 

โดยที่ระบบตั๋วร่วมจะต้องไม่มีการแก้ไขระบบที่ติดตั้งไว้เดิม ซึ่งไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต (MOU) ของ รฟม. กับกรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2561 ข้อ 7 ที่กำหนดให้ กทม.รับทราบนโยบายของรัฐบาลเรื่องค่าแรกเข้าระบบและระบบตั๋วร่วม โดยกรุงเทพมหานครฯ จะดำเนินการให้มีการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบหรือค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกัน หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. โดยระบบโครงการรถไฟฟ้าที่ผู้โดยสารขึ้นลำดับแรกจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้าระบบ

 

ทั้งนี้การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรพิจารณาถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา โดยคำนึงถึงค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ

 

เมื่อพิจารณาจากรายงานการศึกษาแนวทางการดำเนินการและผลสรุปการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวพบว่า กรณีที่รัฐดำเนินการเอง ตั้งแต่ปี 2572-2602 จะมีรายได้รวม 1,577,141 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 1,109,312 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดสุทธิ 467,822 ล้านบาทต่างจากกรณีที่เอกชนดำเนินการเอง จะทำให้ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิเพียง 32,690 ล้านบาท

“คมนาคม” ร่ายยาวค้านต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

ขณะที่การคิดอัตราค่าโดยสารไม่เป็นไปตาม MRT Assessment Standardization เนื่องจากการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท ตามร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเงื่อนไขจะเริ่มใช้หลังวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ดังนั้น ช่วงระหว่างรอต่อสัญญาทำให้ปัจจุบันการกำหนดค่าโดยสารตลอดสายอยู่ที่ 158 บาท

 

แต่ กทม. มีการยกเว้นค่าแรกเข้า จึงคงเหลืออัตราค่าโดยสาร ที่ 104 บาท แต่ปัจจุบันไทยใช้รูปแบบค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามระยะทาง (Distance - Base Fare) ตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ซึ่งค่าโดยสารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าแรกเข้า และค่าโดยสารตามระยะทาง โดยใช้ดัชนี CPI :Non Food & Beverages ประกอบการคำนวณอัตราค่าแรกเข้า

 

ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าโดยสารในปี 2563 ควรมีอัตราค่าแรกเข้าที่ 12 บาท และค่าโดยสารตามระยะทาง 2 บาท (โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร คือ 12+2X) ในขณะที่ผลการเจรจาต่อรองผู้รับสัมปทาน ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้า15 บาท ค่าโดยสารต่อสถานี 3 บาท (โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร คือ 15+3X) โดยใช้ Headline CPI หรือ ดัชนีราคาที่รวมสินค้าทุกหมวด ทำให้อัตราค่าโดยสารสูงกว่าการใช้ ดัชนี CPI : Non Food & Beverages เมื่อเปรียบเทียบรายได้ค่าโดยสารจากสูตร MRT Assessment Standardization

 

ข้อเสนอของ BTS พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กรรมสิทธิ์ของรฟม. ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้อนุญาตให้กรุงเทพมหานครเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ทำร่วมกันไว้ กำหนดไว้ชัดเจนว่าอนุญาตให้กรุงเทพมหานครเข้าพื้นที่และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงกรณีที่กรุงเทพมหานครจะไปว่าจ้างเอกชนรายใดมาดำเนินการ ดังนั้นรฟม.จึงไม่รับทราบหนี้สินของกรุงเทพมหานครในส่วนที่ไปว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ
 

 

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปัจจุบันรฟม.ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์งานโยธาช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-คูคต ให้กับกทม.ได้ เพราะผิดเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงรการจำหน่ายทรัพย์สินของโครงการฯ  ระหว่ารฟม.และกทม.เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ระบุว่ารฟม.จะโอนกรรมสทธิ์ให้กทม.ได้ต่อเมื่อกทม.ชำระค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จจึงจะดำเนินการได้ หากไม่ดำเนินการตามข้อตกลงถือว่าผิดกฎหมาย

 

“คมนาคม” ร่ายยาวค้านต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว


ทั้งนี้ในกรณีการสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสะพานข้ามแยกบริเวณแยกรัชโยธิน โดยกทม.กำหนดเงื่อนไขในการติดตั้งสะพานลอยตามที่กำหนด มีความล่าช้า ซึ่งรฟม.ได้มีการประเมินค่าก่อสร้างสะพานทั้ง 2 แห่ง ให้กับกทม.จำนวน 490 ล้านบาท ทำให้ค่าก่อสร้างนี้กลายเป็นต้นทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ส่งผลให้กทม.เป็นผู้รับภาระทางการเงิน เนื่องจากในบันทึกการลงนามสัญญาระบุว่าภาระทางการเงินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับภาระการก่อสร้างงานโยธา ทางกทม.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำต้นทุนดังกล่าวไปรวมกับภาระที่ต้องแบกรับหรือไม่ เพราะกทม.ยังไม่ได้ให้ความคิดเห็นตอบกลับแต่อย่างใด