เอาคืน! สภาฯตีตก 2 ร่าง กม.ฉบับภูมิใจไทย

09 ก.พ. 2565 | 07:23 น.

เอาคืน ! สภาฯตีตก 2 ร่าง กม.ฉบับที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ เสียงไม่เอาด้วยท่วมท้น ขณะที่ลูกพรรคอนุทิน แถลงข่าวฟ้องประชาชน โวย ด้อยค่า ส.ส. ไม่สนใจสิทธิประชาชน อัดติดขัดบารมียิ่งใหญ่ของรัฐบาล

วันที่ 9 ก.พ.2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาเป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ(ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และคณะเป็นผู้เสนอ โดยทั้ง 2 ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และได้ส่งคืนสภาเพื่อพิจารณา


ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาลงมติไม่รับหลักการของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา ได้คะแนนเห็นด้วย 146 เสียง ไม่เห็นด้วย 231 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ส่วนร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ เห็นด้วย 6 เสียง ไม่เห็นด้วย 376 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง

เอาคืน! สภาฯตีตก  2 ร่าง กม.ฉบับภูมิใจไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. …  นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เปิดแถลงข่าว โดย นายวิรัช กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญทุกคนย่อมมีเสรีภาพทั้งชีวิตและร่างกายในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด จะกระทำต่อบุคคลนั้นเหมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ เมื่อจับผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ชั้นศาล ต้องมีการประกันตัว คนจนคนทั่วไปจะเอาหลักทรัพย์ที่ไหนมาประกันตัว และการประกันตัวช่างยากเย็น ซึ่งผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมีจำนวนปีละ 5 หมื่นคน รัฐต้องจ่ายปีละ 2 หมื่นบาทต่อคน หรือปีละ 1 พันล้านบาท 

 

ดังนั้น เพื่อประกันเสรีภาพประชาชนจึงเสนอให้แก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ใช้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ประกันตัวได้ทุกคดี เว้นแต่คดีที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ เพื่อให้ประกันตัวได้โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ และเมื่อมีโอกาสตนได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากส.ส.พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคก้าวไกล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ 

 

ตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดส.ส.ที่มาจากประชาชน แต่ทำไมไม่ยอมให้เสรีภาพประชาชน โดยให้เขาได้ใช้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ประกันตัวเอง ตนอยากให้ไปดูเลยว่า ส.ส.คนไหนบ้างที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้

ด้าน นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้เซ็นรับรองร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าการประกันตัวผู้ยากไร้เป็นเรื่องสำคัญมาก ประชาชนที่เกิดมาไม่มีทรัพย์สมบัติเลย ก็ไม่มีเงินไปประตัวจากศาล ในชั้นตำรวจ อัยการ และศาลแต่ละปีเป็นแสนคดี ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ประชาชนจะได้ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นไปประกันตัวให้หรือต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา 

 

จากมติที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า สภานี้ถูกลดบทบาท ถูกด้อยค่าจากฝ่ายรัฐบาล ร่างพ.ร.บ.ใดจะผ่านได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารก่อน ฝ่ายบริหารต้องอยู่เบื้องหลัง หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอร่างมาก่อนแบบนี้ตนมองว่าไม่ใช่สภานิติบัญญัติแต่เป็นสภาเงา สภาเทียม ออกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนเอื้อประโยชน์ฝ่ายบริหารเท่านั้น โดยไม่เล็งเห็นถึงประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก 

 
“วันนี้ผมขอมาฟ้องประชาชน พวกเราทำเต็มที่ในนามพรรคภูมิใจไทย แต่ติดขัดบารมีอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอ และผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ทำมาหากินกับประชาชน

ดังนั้น บ้านเมืองเราต้องทบทวนใหม่เพราะวันนี้ฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซงด้วยฝ่ายบริหาร วันนี้นักเรียนท่องแค่เสาอำนาจของไทยมีแค่ 2 เสาก็พอ คือฝ่ายบริหาร และตุลาการ เพราะในที่สุดเมื่อไม่ผ่านก็คือเศษกระดาษธรรมดา วันนี้เป็นส.ส.ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน ต้องอยู่ในค่ายในซุ้มของรัฐบาล กฎหมายนั้นถึงจะผ่านไปได้ วันนี้ผมรู้สึกหดหู่ใจมาก ขนาดเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่มีความหวังเลย” นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าว  

 

 เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยถูกเอาคืนจากการที่รัฐมนตรีของพรรคไม่เข้าร่วมประชุมครม.วานนี้ (8 ก.พ.) หรือไม่นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ แต่เป็นประเด็นปกติ ถ้าแบบนี้ต่อไปส.ส.นำเรื่องหารือในสภาจบแล้วก็กลับบ้านได้เพราะอำนาจการลงมติไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร ถึงเวลาลงลงมติก็ยกนิ้ว 2 – 3 นิ้ว แบบนี้ไม่ใช่เอกสิทธิ์แต่เป็นการชี้นำ ทำให้ส.ส.ด้อยค่า เสื่อมราคา ประชาชนไม่ศรัทธา เพราะคาดหวังอะไรไม่ได้เลย หลายเรื่องสภาคงต้องทบทวนบทบาทให้อิสระเอกสิทธิ์กันบ้าง ไม่ใช่ให้แต่ฝ่ายบริหารชี้นำสั่งการ