สตช.ลงโทษ"ไล่ออก-ปลดออก"ตำรวจ ม.ค.65 เดือนเดียว 13 นาย 

31 ม.ค. 2565 | 10:08 น.

นายกฯ ประชุมก.ตร. รับทราบรายงานสรุปผลตำรวจทำผิดวินัยร้ายแรง ม.ค.65 เดือนเดียว 13 นาย ไล่ออก 10 นาย ปลดออก 3 นาย กำชับป้องกันอุบัติเหตุทางม้าลาย ปรับปรุงสัญญาณไฟทางข้าม กวดขันวินัยจราจรเข้ม

วันนี้(31 ม.ค. 65) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกล(Video Conference) โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ที่ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

 

เบื้องต้นคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจด้านวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ และบริหารทรัพยากรบุคคล ได้รายงานข้อมูลการกระทำผิดวินัยร้ายแรงของข้าราชการตำรวจ เดือนมกราคม 2565 มีข้าราชการตำรวจถูกลงโทษทั้งสิ้น จำนวน 13 นาย เป็นการไล่ออกจากราชการ จำนวน 10 นาย และปลดออกจากราชการ จำนวน 3 นาย

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้อห่วงใยเรื่องการแก้ไขอุบัติเหตุการจราจร โดยเฉพาะทางม้าลาย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันวินัยจราจร และมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ อาทิ ปรับปรุงสัญญาณไฟทางข้าม

 

รวมถึงการจอดรถไม่ถูกที่ จอดทับเส้นทางม้าลาย หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบ หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด

พล.ต.ต.ยิ่งยศ ยังกล่าวถึงกรณีของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ส่วนการมอบหมายหน้าที่เดิมซึ่งเป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.วิระชัย ในส่วนของหน้างานกิจการพิเศษ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. สำหรับศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และศูนย์ปราบปรามเงินกู้นอกระบบ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง รองผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ

 

ส่วนศูนย์นโยบายสำคัญเร่งด่วน มอบให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในส่วนการมอบหมายหน้าที่ในขณะสำรองราชการ ซึ่งเป็นไปตามกฎก.ตร.ตามข้อบังคับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการในระหว่างข้าราชการตำรวจถูกสำรองราชการ โดยขณะนี้ทางฝ่ายอำนวยการ อยู่ระหว่างประมวลเรื่อง เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาในการพิจารณา เพื่อมอบหมายหน้าที่ที่เหมาะสม

 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สืบเนื่องมาจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น สำรองราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.2563 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง มีพฤติการณ์และการกระทำเข้าลักษณะมีเจตนาเปิดเผยความลับของทางราชการและฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งว่าด้วยการให้ข่าวสัมภาษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง

 

ต่อมา พล.ต.อ.วิระชัย ได้ยื่นฟ้องพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในขณะนั้น ต่อศาลปกครอง โดยเป็นจำเลยที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นจำเลยที่ 3 และนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 4 กรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ

 

กระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 กรณีที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ ไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลโดยไม่มีทางแก้ไข การสั่งจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.2563 ที่สั่งให้พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

 

หลังจากคำสั่งทุเลาของศาลปกครองมีผลทำให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับมาดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.64 ที่ผ่านมา กระทั่งในวันที่ 21 ม.ค.65 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกเลิกการทุเลาของศาลปกครอง เป็นเหตุให้พล.ต.อ.วิระชัย ต้องกลับไปถูกสำรองราชการ อีกครั้งจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมาอีกครั้ง

 

ส่วนตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ที่ทางก.ตร.ได้ขอเปิดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาของพล.ต.อ.วิระชัย ทางก.ตร.ยังคงให้เปิดตำแหน่งไว้ต่อไป จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หรือจนกว่าพล.ต.อ.วิระชัย เกษียณอายุราชการ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก.ตร.จะมีการพิจารณากับตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร