“ฝ่ายค้าน” ยื่นอภิปราย ม.152 พุ่งเป้าแก้ศก.ล้มเหลว-ของแพง-โรคASF

21 ม.ค. 2565 | 06:10 น.

7 พรรคฝ่ายค้าน” ยื่นอภิปราย ม.152 พุ่งเป้าอัดรบ.แก้ศก.ล้มเหลว-ของแพง-เอเอฟเอส-บริหารไร้ประสิทธิภาพ คาด ได้ซักฟอกกลาง ก.พ. ขอเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชม.

วันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคพท. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพท. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ (ปช.) นายสงคราม กิจโรจน์ไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ (พช.) และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 152 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร
 

“ฝ่ายค้าน” ยื่นอภิปราย ม.152  พุ่งเป้าแก้ศก.ล้มเหลว-ของแพง-โรคASF

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เพื่อขอสอบถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้เข้าชื่อเสนอทั้งหมด 173 คน จาก 7 พรรค ได้แก่ พรรคพท. พรรคก.ก. พรรคสร. พรรคปช. พรรคพช. พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ โดยเนื้อหาสาระที่จะอภิปรายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.วิกฤตเศรษฐกิจในยุคข้าวของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน 2.วิกฤตโรคระบาด ทั้งโควิด-19 และโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) 3.วิกฤตด้านการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ยุคการเมืองที่ใช้เงินเป็นหลัก และ 4.วิกฤตความล้มเหลวเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะฝุ่นพิษ การบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

 

ส่วนวันเวลาในการอภิปราย เนื่องจากปีนี้เนื้อหาสาระในการอภิปรายมีค่อนข้างมาก เราจะขอเจรจาต่อรองเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเปิดอภิปราย คือ วันที่ 16-18 กุมภาพันธ์

เมื่อถามถึง ความคาดหวังของฝ่ายค้านหลังจากการเปิดอภิปรายครั้งนี้ จะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เนื่องด้วยเนื้อหาสาระและกระบวนการเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสภาได้ แต่เนื้อหาสาระที่เราเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่จะบอกกับประชาชนโดยตรงผ่านสภา ถึงสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติ และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ฉะนั้น ตนมั่นใจว่าความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจะส่งผลโดยตรงต่อรัฐบาลจากการกดดันของภาคประชาชน ที่เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากทุกกลุ่มและทุกอาชีพ เราคาดว่ารัฐบาลน่าจะรับฟังเสียงของเราในสภาและเสียงของประชาชน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในทางที่ดี รัฐบาลก็ควรพิจารณา เพราะคณะรัฐมนตรีคือปัญหาสำคัญที่สุด


ด้าน นายชวน กล่าวว่า การยื่นอภิปรายในช่วงนี้ ก็คาดว่า น่าจะมีการอภิปรายในช่วงกลางเดือน ก.พ. ส่วนระยะเวลาที่จะใช้ในการอภิปรายก็ให้ตัวแทนผู้ควบคุมเสียงทั้งสองฝ่ายหารือกันต่อไป ทั้งนี้ จะนำญัตตินี้ไปตรวจสอบรายชื่อตามวิธีการของสภาฯ และตามข้อบังคับ ก่อนจะบรรจุระเบียบวาระ