"นายกฯ"สั่งปิดจุดอ่อน กระบวนการทุจริต "ปลัดกระทรวง" ต้องร่วมรับผิดชอบ

04 ม.ค. 2565 | 07:20 น.

"โฆษกรัฐบาล" เผย "ครม." รับทราบผลการประเมิน ITA ความโปร่งใส ภาครัฐ ปี 64 ได้คะแนนเฉลี่ย 81.25 ผ่านเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ต้านทุจริต "นายกฯ" สั่ง ปิดจุดอ่อนกระบวนการทุจริต "ปลัดกระทรวง" ต้องร่วมรับผิดชอบ คนรวยคนจน หากทำผิดต้องติดคุก

วันที่ 4 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยการประเมิน ITA เป็นแนวนโยบายสำคัญในการป้องกันการทุตริตที่บังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และเป็นกลไกป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้ถูกกำหนดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศ โดยกำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐในปี 2565 มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

 

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8,300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการประเมิน ITA ผ่านระบบ ITAS ที่เว็บไซต์ http://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2564 ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 1,331,588 คน พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศเท่ากับ 81.25 คะแนน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 13.35 คะแนน และมีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่21 การต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบฯ 4,146 หน่วยงาน หรือร้อยละ 49.95 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 36.76

"นายกฯ"สั่งปิดจุดอ่อน กระบวนการทุจริต "ปลัดกระทรวง" ต้องร่วมรับผิดชอบ

 

ในปีนี้หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ได้เข้าสู่องค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสตามหลักเกณฑ์การประเมิน ITA ในระดับค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ระดับ A ถึงร้อยละ26.22 โดยมีข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมความโปร่งใสของภาครัฐสู่มาตรฐาน ในระดับ A และ AA ในระดับนโยบาย โดยมุ่งเน้นการรักษาแนวปฏิบัติที่ดีไว้และต่อยอด ขยายผลการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ รวม 5 ข้อ ดังนี้

 

1. เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินที่กำหนด


2. ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่อปท. ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท 
 


3. ขับเคลื่อนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉ. ..)  พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ใน รธน. เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ

 

4. ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA

 

5. ให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบฯ 2565 - 2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

 

ทั้งนี้ การประเมิน ITA สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้หน่วยงานหาแนวทางปิดจุดอ่อนกระบวนการทุจริตที่ผ่านมามีกระบวนการ “สมยอม” ทั้งผู้รับและผู้ให้ โดยปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดต้องร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งสมาคมภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องร่วมมือกัน ส่งเสริมการให้ข้อมูลที่โปร่งใสด้วย พร้อมกับย้ำว่า การปราบปรามการทุจริต สร้างโปร่งใส เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

นายธรกร ระบุว่า นายกฯ กล่าวถึงคดีทุจริตที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะมีการทำผิดมากขึ้น แต่เป็นผลจากความเอาจริงเอาจังของนายกฯ และรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 - ปัจจุบัน มีคดีทุจริตทั้งนักการเมือง ส.ส. ข้าราชการ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกตัดสินจำคุก ที่สำคัญ คือ พยายามแก้วัฒนธรรมต่างตอบแทน ในสังคมไทยให้ได้ เพราะนายกฯ ยืนยัน ไม่ว่าคนรวยคนจน หากทำผิดต้องติดคุก