พรรคร่วมรัฐบาล เห็นต่าง กกต. ปมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช้เบอร์เดียว

20 ธ.ค. 2564 | 08:35 น.

พรรคร่วมฯ เห็นต่าง กกต. ปมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช้เบอร์เดียว แต่พรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้ใช้คนละหมายเลข เหตุให้สอดคล้อง รธน.

วันที่ 20 ธันวาคม  2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รองประธานวิปรัฐบาล ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่…) พุทธศักราช…(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ให้สัมภาษณ์หลังการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ที่ประชุมหารือรายละเอียดของกฎหมายลูก มีประเด็น เรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือสองใบ การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ คือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช้เบอร์เดียว ซึ่ง กกต.เป็นผู้เสนอ

 

แต่ของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้ใช้คนละหมายเลข ระหว่าง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเราเห็นว่า มาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ มีการรับสมัคร ส.ส.เขต ให้เสร็จสิ้นแล้ว จึงตีความว่า ต้องได้หมายเลขก่อน เพื่อเป็นอิสระในช่วงสมัคร ส.ส. เขต จากนั้น ค่อยเปิดรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ และให้หมายเลข ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกครั้ง ซึ่งความเห็นตรงนี้ยังเห็นไม่ตรงกัน ในขั้นตอนต่อไปจะเหมือนกันหรือออกมาเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กกต. ที่จะรับความเห็นของเราที่เสนอไป

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

 สำหรับประเด็นการคำนวณสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตรงมีความเห็นเหมือนกันคือ นำคะแนนรวมของบัตรดีทั้งประเทศที่ทุกพรรคการเมืองได้มารวมกัน แล้วหารด้วย 100 คือจะนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่เป็นถ้อยคำที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง โดยทุกคนตีความเหมือนกัน


นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป กกต.จะรับรองในคณะกรรมการฯ และส่งร่างกฎหมายฯ มาให้รัฐบาล เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งรัฐบาลมีกระบวนการเรื่องการเสนอกฎหมาย ที่ต้องผ่าน ครม. และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา เสร็จแล้วถึงกลับมาสู่กระบวนการ เพื่อเสนอสภาฯ ต่อไป นี่เป็นขั้นตอนของรัฐบาล ส่วนร่างของพรรคร่วมฯ จะยื่นต่อประธานสภา ในวันพฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม เพื่อเสนอตามกระบวนการ


นายวิเชียรกล่าวถึงการทำไพรมารีโหวต ว่า ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าให้ฟังเสียงของสมาชิก ซึ่งในกฎหมายเดิม เขียนไว้ว่าให้มีการลงมติ คือโหวต ซึ่งเราตีความว่า ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าให้สมาชิกมีส่วนร่วม เราก็ทำตามกระบวนการคือ ให้มีการรับฟังความเห็นของสมาชิก โดยให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากเรามองว่า การมีตัวแทนพรรคทุกเขต ซับซ้อน และเป็นภาระ คือพรรคต้องไปจัดประชุมในทุกเขต มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้กระบวนการขั้นตอนตรวจสอบหลายอย่าง จึงเสนอให้มีแค่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อไม่เป็นภาระ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ใช้วิธีการนี้ ที่เราคุ้นเคยและอยู่ในขอบข่าย ที่ยืนยันว่าไม่มีอุปสรรค และสามารถปฏิบัติได้ ทั้งนี้ รัฐบาล และ กกต. ไม่ได้ติดใจ เพราะ สิ่งที่เสนอ อยู่ในขอบข่ายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

พรรคร่วมรัฐบาล เห็นต่าง กกต.  ปมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช้เบอร์เดียว

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เห็นต่างจาก กกต. 2-3 มาตรา ที่เขาไม่กล้าพิจารณาเร็วไป แต่ก็ยอมหากเราจะไปแก้ในชั้นของรัฐสภา ก็สามารถทำได้ โดยเบื้องต้นเราเสนอแก้ ให้เหลือแค่การรับฟังความเห็น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพรรคเล็ก

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทม์ไลน์การแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ในช่วงใด นายวิเชียร กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณากฎหมายลูกจะแตกต่างกับกฎหมายอื่นทั่วไป เพราะได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ต้องทำขั้นตอนอะไรอย่างไร ซึ่งมีการกำหนดกรอบเวลาให้สภาพิจารณา ไม่เกิน 6 เดือนหรือ 180 วัน ถ้าเกินให้กลับไปใช้ร่างที่เสนอ หลังจากพิจารณาเสร็จใน 6 เดือน ต้องส่งให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ใช้เวลาอีกประมาณ 25 วัน รวมเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยรวมทั้งหมดได้ไม่เกิน 8 เดือน ซึ่งเป็นเวลายาวสุดที่กฎหมายบังคับ ฉะนั้นการพิจารณาจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับส่งไปสภาแล้ว จะใช้เวลามากน้อยเท่าใด โดยคาดว่า จะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะสูญเปล่า หากเกิดอุบัติเหตุ หรือรัฐบาลคว่ำกระดาน นายวิเชียรกล่าวว่า ตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ในกระบวนการบัญญัติกฎหมายตามที่อธิบายอย่างนั้น และ ส.ส.ก็คงไม่ประสงค์จะให้มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น