ม็อบต้านระบบเก่า เดิมพันใหม่ “รัฐบาลลุงตู่”

16 พ.ย. 2564 | 23:30 น.

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้ม็อบหยุด หรือ ชะลอลง กลับกลายเป็นว่ามีการขยายตัว มีแนวร่วมที่หลากหลายมากขึ้น และแปรสภาพจากการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นการต่อต้านในระบบเก่า

สถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญ แม้ว่าสัดส่วนจำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะ 84 ล้านโดส แต่จะ  “กอบกู้เศรษฐกิจ” ขึ้นมาได้อย่างไร ขณะที่ “ม็อบราษฎร” ก็เริ่มหนักหน่วง

 

ตัวเลขที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์”ประกาศออกมา ไม่ค่อยดี ก่อนหน้านี้ไตรมาส 3 อยากเห็นตัวเลขที่ดีกว่านี้ ผลตัวเลขวันนี้(15 พ.ย.64) ออกมายังติดลบและยังมีหลายตัวที่สะท้อนว่ารัฐบาลนี้ต้องทำงานหนัก ต้องคิดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้พอสมควรหากจะเดินหน้าต่อไป

ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2562-2564 มูลค่าคือความมั่งคั่งเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงไปเป็นล้าน และตอนนี้เริ่มดีขึ้น แต่ดีขึ้นบนพื้นฐานของการหดตัว วันนี้สภาพัฒน์รายงานตัวเลขดัชนีสำคัญออกมา (จีดีพี ปี 2564 จำนวน 16 ล้านล้านบาท) 

 

แม้ว่าทุกครั้งจะบอกว่าเศรษฐกิจไม่เคยล้มรัฐบาล แต่ถ้าสะสมคนยากจนเรื่อยๆ จะเป็นแรงกดดันที่สะท้อนความเชื่อมั่น


มีการประเมินว่าปีนี้ทั้งปีคาดหวังว่า จีดีพีจะโต 1.2%

เรื่องเศรษฐกิจจะเป็นแรงกดดันของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสามารถขับเคลื่อนหลังจากนี้ ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเดิมพันของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปี 2565 จะมีเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบอย่างน้อยที่สุด 3.7 ล้านล้าน มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.1 ล้านล้าน งบเงินกู้ 5 แสนล้าน ยังเหลืออีกประมาณ 2 แสนล้านบาท และเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่จะอัดเข้าไปจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ปีนี้จะขยายตัว 1% ไม่หวังมากแต่ไม่อยากให้ติดลบ ปีนี้มีการเรียนรู้จากปีที่แล้ว เศรษฐกิจน่าจะปรับตัว รัฐบาลก็ใช้เงินอัดฉีดเข้าไปพอสมควร

                                        ม็อบต้านระบบเก่า เดิมพันใหม่ “รัฐบาลลุงตู่”

รอบที่แล้วคนให้โอกาส กู้เข้ามา 1 ล้านล้าน กู้อีก 5 แสนล้านบาท แต่ถ้ายังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้เครดิตของรัฐบาลจะทดถอย 

เพราะฉะนั้นต้องอัดฉีดตรงเป้าเข้าไปที่หัวใจให้ได้ “สภาพัฒน์” คาดหวังว่าปีหน้า 3.5-4.5% แต่ความคาดหวังนี้ต้องทำภายใต้ 7 อย่างนี้ 

 

1.การควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิดให้อยู่ในวงจํากัดโดยเร็ว

 

2.การสนับสนุนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาฟื้นตัวได้

 

3.การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวในประเทศ

 

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า

 

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

 

6.การขับเคลื่อนการใช้จ่าย และ การลงทุนภาครัฐ 

 

7.การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ เสถียรภาพทางการเมือง

 

ลำพังแค่เรื่องราวทางเศรษฐกิจที่จะกำกับดูแลให้ฟื้นตัว ก็เป็นแรงกดดันสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 
แต่ยังมาเจอปัญหาใหญ่นั่นคือ การขยายตัวของ “ม็อบ” และตอนนี้ม็อบได้แปรสภาพจากการตลาด 112 มาเป็นม็อบ “ต้านระบบ” ที่จะเปิดเกมรบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างหนักหน่วงหลังจากนี้

 

หลังคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้ทำให้ม็อบหยุด หรือ ชะลอลง กลับกลายเป็นว่ามีการขยายตัว มีแนวร่วมที่หลากหลายมากขึ้น และแปรสภาพจากการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นการ “ต่อต้านระบบเก่า”

                                                       ม็อบต้านระบบเก่า เดิมพันใหม่ “รัฐบาลลุงตู่”

บรรยากาศในวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ต้องบอกว่ามวลชนหนาตา และที่ถูกโฟกัสมากที่สุด คือ มีผู้บาดเจ็บจากกระสุนไม่รู้กระสุนมาจากไหน 

 

ปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของ “ม็อบ” สะท้อนให้เห็นว่ามีแรงภายในที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ และม็อบที่ “ต่อต้านระบบ” จะกลายเป็นเดิมพันอีกระลอกของรัฐบาลลุงตู่

 

ม็อบในขณะนี้ต้องบอกว่าหนักหน่วง

 

ม็อบที่แปรสภาพนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งอย่าผลักออกไป ดึงเขาเข้ามาแล้วเปิดพื้นที่ในการพูดคุย อาจจะนำไปสู่ข้อยุติในบางเรื่อง ต้องมีพื้นที่ในการพูดคุย เพราะม็อบที่มาเคลื่อนไหว “ต่อต้านระบบเก่า” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

 

การแปรรูปแนวคิดและวิธีการต่อสู้ของ “ม็อบ” จะเป็นไปตามสภาพที่ถูกบีบ แล้วมาตั้งรูปใหม่ และเริ่มขยายเครือข่ายออกไป บทบาทในวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นอย่างหนึ่ง แกนนำเปลี่ยนหน้าเล่นหลากหลายคนเข้ามา

 

หลังจากนี้อาจจะมีเครือข่ายแบบนี้เพิ่มขึ้นมาอีก และกระบวนการตอนนี้แกนนำ “ต้านระบบเก่า” ที่ออกมาเรียกร้อง ส่งเสียงดังเกินกว่าที่ใครจะเอาสำลีไปอุดหู

 

รวมตัวกันแสดงถึงพลังบางอย่าง และข้อเรียกร้องก็แปรสภาพ ต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วน

 

เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อ “ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” 

 

เราไม่มีระบบนี้แล้วเรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การขับเคลื่อนและการ “สร้างวาทกรรม” แบบนี้ ถ้าจัดการไม่ดีจะเป็นปัญหา 

 

และยิ่งตอนนี้ประเด็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เป็นอีกหนึ่งกลไก

 

ในแง่ของกระบวนการจัดการภาครัฐต้องมีศิลปะ น้ำที่เอ่อล้นและค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นมา ถ้าไม่มีท่อระบายน้ำลงไปในสายน้ำ มันจะพังทลายกำแพง 

 

“ม็อบต่อต้านระบบ” ก็เช่นเดียวกัน แกนนำเหล่านั้นคือ ลูกหลานเรา เราจะทำอย่างไร ที่จะเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสพูดคุย 

 

ภาครัฐอย่าปิดกั้น ปิดกั้นเมื่อไหร่เท่ากับเป็นการ “เปิดเกมรบ” ถ้าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงบนท้องถนน เวทีสภาเป็นทางออกที่ดีสำปรับประชาชน

 

*** ติดตามการวิเคราะห์เจาะลึกในทุกเรื่องร้าวร้อน ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ได้ที่รายการเนชั่นอินไซด์ ดำเนินรายการโดย บากบั่น บุญเลิศ ประธานบริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.30 น.-18.00 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22