ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

10 พ.ย. 2564 | 10:36 น.

แฮชแท็ก#ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 โต้กลับศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแกนนำม็อบราษฎร์ ปราศรัย 10 สิงหาคม 2563 ผิดข้อหา "ล้มล้างการปกครอง" ด้านแนวร่วมธรรมศาสตร์ ไม่ทน ร่อนแถลงการ ยืนยันเดินหน้า ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เรียกร้องยกเลิกมาตรา 112

10 พ.ย.2564 - จากกรณี วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำปราศรัยของม็อบราษฎร์ 10 สิงหาคม 2563 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากใจความแกนนำ  รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ระบุบางช่วงบางตอน ...

 

" ผมต้องการให้พระมหากษัตริย์ อยู่ในที่เหมาะสม อยู่ร่วมกับคนไทยได้ ...หากเรากําลังจะสร้างถนนลาดยาง 1 เส้นเพื่อความเจริญงอกงามให้กับประเทศ แต่ดันบังเอิญมีต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ รู้ไหมต้นไม้ใหญ่ คือ ใคร หลายคนอาจคิดว่ามันไม่ยากเลยกับการสร้างถนนลาดยาง คือการสร้างให้มันเป็นวงเวียนใช่ไหมครับ แต่สําหรับผม ผมคิดว่าเราควรย้ายต้นไม้ให้ไปอยู่ในที่ที่สมควรอยู่ และสร้างถนนลาดยางที่แข็งแรงและสมบูรณ์...." 

" ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจากนี้ไปจะต้องถูกตั้งคำถามโดยสาธารณะ สิ่งที่คนที่มาชุมนุมในที่นี้ต้องการเห็นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรับตัวเข้าหาประชาชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการที่คณะรัฐประหาร 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป" 

 

คำปราศรัยข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำประกาศกร้าวบนเวทีใหญ่ ที่เสนอให้มีการปฎิรูปสถาบัน 10 ข้อ โดยมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่าหนึ่งหมื่นคน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น  เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้อง 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ทันทีที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเกี่ยวกับม็อบราษฎร์วันนี้ ออกมา สังคมโซเชียล มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในหลายแง่มุม ขณะในโลกทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ด้วยจำนวน 218Kทวิต 

 

ล่าสุดยังมีความเคลื่อนไหว จาก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความในแฟนเพจ  ระบุ แถลงการณ์ตอบโต้การวินิจฉัยของศาล และยืนยัน การปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง พร้อมระบุ จะเดินหน้า การปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ตามเนื้อหาใจความดังนี้ ....

ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

แถลงการต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ข้าพเจ้าขอส่งสารนี้ด้วยใจจริง ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รุ้ง พี่อานนท์ และพี่ไมค์ได้กล่าวถึงในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาล้มล้างการปกครองโดยจัดแจ้ง ตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 49 วรรค 1 

 

ข้าพเจ้าขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเบื้องต้น ข้าพเจ้าเคารพในคำวินิจฉัยของศาสรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยจิตวิญญาณอันชื่อตรงต่อหลักนิติธรรม ข้าพเจ้าเห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความชอบอย่างยิ่งด้วยกระบวนพิจารณาคดี ด้วยเหตุว่า กฎหมายได้ระบุให้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ให้ใช้ระบบไต่สวน 

 

ซึ่งศาลมีอำนาจแสวงหาพยานหลักฐาน เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้เสนอพยานหลักฐาน เพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม และเป็นสิทธิของคู่ความที่พึงมีในกระบวนยุติธรรม และแม้ศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การใช้ดุลพินิจนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ทั้งนี้ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวนไม่ยอมให้นักวิชาการเข้าให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิ์ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 

 

โดยศาลได้ให้เหตุผลว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน แม้จำเลยจะได้มีการยื่นร้องขอต่อศาลให้มีการไต่สวนแล้วก็ตามข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว และขอเน้นย้ำอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ดังที่นาย ณฐพร โตประยูร กล่าวอ้าง 

ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

ในทางกลับกัน ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมจะส่งผลเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง และเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์เจริญวิวัฒน์พัฒนาสถาพรขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ที่ว่า

  1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.
  4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม
  9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
  10. ห้ามมีให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

ข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ 10 ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการจะให้สถาบันกษัตริย์ของไทยมีความชอบธรรมและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล

 

ทั้งนี้ ในส่วนของ การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญามาตรา 112 มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ย่อมเป็นไปเพื่อให้การส่งเสียงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นกัลยาณมิตรสามารถเป็นไปได้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าประชาชนผู้เป็นแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอำนาจในทั้งหมด

ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

การสถาปนาและแก้ไขกฎหมายทั้งปวง เพราะเมื่อได้ชื่อว่ากฎหมายแล้วไม่ว่าจะอยู่ในลำดับศักดิ์ใดกฎหมายย่อมสามารถถูกแก้ไขได้ตามเจตจำนงของประชาชนผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ภายใต้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการบัญญัติรับรองไว้ ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการวินิจฉัยคดีนี้เกิดขึ้นแล้ว และผลได้ปรากฎออกมาดังที่ทุกท่านทราบ ข้าพเจ้าขอให้การตัดสินวินิจฉัยในครั้งนี้ จงถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรมีหน้าที่สำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้วินิจฉัยว่า การเรียกร้องให้เกิดการการปฏิรูป
สถาบันกษัตริย์หมายถึงการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฎิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง แนวร่วม มธ. โต้คำวินิจฉัย "คดีล้มล้างการปกครอง "

และขอให้คำตัดสินดังกล่าว อันพวกท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมหรือสนับสนุน จงเป็นกระจกสะท้อนต่อเบื้องลึกในจิตใจของท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกลัวต่อสภาพอันเปราะบางที่ดำรงอยู่ ซึ่งพวกท่านต่างรู้ได้ด้วยมโนสำนึก และผ่านการกระทำของท่าน และขอให้ท่านทราบว่า พวกท่านกำลังมีส่วนในการขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สถาบันสามารถดำรงอยู่อย่างสง่างาม ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

 

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันด้วยใจอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้งว่า หนทางที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกดปราบ คุกคาม หรือการพยายามสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัวแต่คือการพยายามร่วมมือกันจาก 'ทุกภาค' ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน 'ทุกความคิดทางการเมือง' ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจาก 'ทุกองคาพยพของรัฐ' ทั้งองค์กรนิติบัญญัติองค์กรบริหาร องค์การตุลาการ องค์กรอิสระ

 

รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถดำเนินไปจน
ประสบผลสำเร็จสถาพรได้จริง อันจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเป็นเหตุแห่งความเจริญพิพัฒน์วัฒนาของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับสถาบันประชาชน ตามครรลองกรเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงสืบไป

 

ประชาชน