คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาล สกัดทุจริตโครงการรัฐ 1 ปีพบส่อโกง 1 เรื่อง

08 พ.ย. 2564 | 08:00 น.

อนุกก.ป้องกันการทุจริตฯ งัดกลไก "คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต" สกัดทุจริตโครงการรัฐ-เป็นที่พึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ เผย 1 ปี พบส่อทุจริต 1 เรื่อง

8 พฤศจิกายน 2564 รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยถึงผลการประชุมอนุกรรมการป้องกันการทุจริตฯ ครั้งที่ 2 /2564 ว่า วิธีการตรวจสอบให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนตามมาตรการ เฝ้าระวังป้องกันการทุจริตเชิงรุกเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนภารกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบ "กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563" 

สำหรับกลไกเฝ้าระวังฯ ดังกล่าว มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขับเคลื่อนภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดฯ โดยมี "คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต" เป็นกลไกตามหลัก "5 ส 2 จ" คือ

  1. การสอดส่องตรวจเยี่ยมตรวจติดตาม
  2. สอบถาม ประสานข้อมูลและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  3. เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ทุกภาคส่วน
  4. สงสัย หาข่าวเบาะแสข้อมูลเพื่อมาทำการวิเคราะห์
  5. ส่งข่าว เบาะแสและข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วไปยังส่วนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  6. แจ้งเตือน และบริหารความเสี่ยง
  7. จับตา เฝ้าระวังรับแจ้งเบาะแส

ซึ่งการลงในพื้นที่ของคลินิกฯ จะแตกต่างจากการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการปราบปรามการทุจริต เพราะมุ่งเน้นการป้องกันตั้งแต่เริ่ม และขณะดำเนินโครงการเป็นสำคัญ คณะทำงานที่ลงในพื้นที่จะดำเนินการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แจ้งเตือนความเสี่ยงที่อาจเข้าข่ายการทุจริต เพื่อให้ไปปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่งผลให้ลดการกระทำผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องถูกลงโทษ สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่ทำให้โครงการหยุดชะงัก จึงถือเป็นที่พึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแท้จริง และที่สำคัญประเทศชาติไม่เกิดความเสียหาย

คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาล สกัดทุจริตโครงการรัฐ 1 ปีพบส่อโกง 1 เรื่อง  

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเกิดจากบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงายภายใต้ ศอตช. เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กระทรวงมหาดไทย

รวมทั้งสภาองค์การชุมชน (สอช.)  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินการตั้งแต่ ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำถึง 230 ครั้ง 67 จังหวัดใน 12 โครงการ ซึ่งมีงบประมาณรวมกว่า 38,740 ล้านบาท

จากการลงพื้นที่ดังกล่าวพบกรณีที่ส่อไปในทางทุจริต 1 เรื่อง ใน 1 โครงการ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยได้ส่งข้อมูลไปยัง ศอตช. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ลงพื้นที่เป็นช่วงอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จึงยังไม่พบประเด็นที่ส่อไปในทางทุจริตมากนัก พบเพียงการดำเนินการที่ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ในบางโครงการ หรือกรณีที่ไม่ดำเนินการตามแบบที่กำหนด หรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่ง ศอตช. ได้ให้คำแนะนำ และได้แจ้งให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่วนข้อมูลการร้องเรียนมายัง ศอตช.ที่ผ่านช่องทางของ สำนักงาน ป.ป.ท. ข้อมูล ณ 28 ตุลาคม 2564 มี 21 เรื่อง หน่วยปราบปรามลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว10 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง 11 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องให้ความร่วมมือร่วมใจ ที่จะไม่กระทำการทุจริตด้วย เพราะหากคลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ ลงพื้นที่แล้วพบขอสงสัย หรือหน่วยงานนั้นๆ ไม่ยอมแก้ไข หรือฝ่าฝืนพยายามกระทำการทุจริต

คลินิกฯ ก็จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ส่งไปยัง ศอตช. เพื่อให้หน่วยปราบปรามลงมาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือหากภายหลังมีเรื่องร้องเรียนว่าโครงการใดมีลักษณะส่อไปในทางทุจริต หน่วยปราบปรามของ ศอตช. ก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันไม่ไห้เกิดการทุจริต