ประกาศ 52 กฎเหล็กประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ห้ามทุจริต-แทรกแซงขรก.

26 ต.ค. 2564 | 13:22 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง กำหนด 52 ข้อ ปฏิบัติ ไม่ใช้ตําแหน่งแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ-ไม่กระทําการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม-ไม่แทรกแซงการแต่งตั้งขรก.-ไม่เลือกปฏิบัติต่อองค์กรธุรกิจ-ไม่สนับสนุนผู้มีอิทธิพล

 

วันนี้ (26 ต.ค.64)  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๔

 

โดยที่เป็นการสมควรกําหนดให้มีประมวลจริยธรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของข้าราชการการเมือง

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีจึงจัดทําประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ประมวลจริยธรรมนี้เรียกว่า “ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๔”

 

ข้อ ๒ ประมวลจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ในประมวลจริยธรรมนี้

 

“ข้าราชการการเมือง” หมายความว่า ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย

 

ข้อ ๔ ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอย่างน้อย ต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปกป้อง ดูแล และยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นสําคัญ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเอกราช และอธิปไตยของชาติ และไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ

 

(๒) ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ และเคารพความแตกต่าง ของแต่ละศาสนา

 

(๓) จงรักภักดีและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ (๔) ยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

(๕) เป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ

 

ข้อ ๕ ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสํานึกที่ดี และ รับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยอย่างน้อยต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติ

 

(๒) ไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตําแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สิน หรือไม่ก็ตาม

 

(๓) ไม่เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นในประการ ที่อาจทําให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

 

(๔) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

 

(๕) ไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อผลประโยชน์ สําหรับตนเองหรือผู้อื่น

 

(๖) ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง

 

(๗) แสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือผิดพลาด

 

ข้อ ๖ ข้าราชการการเมืองต้องกล้าตัดสินใจและกระทําในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยอย่างน้อย ต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย

 

(๒) ยึดมั่นในกฎหมายและไม่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น

 

(๓) คํานึงถึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งผู้สมควรดํารงตําแหน่งต่าง ๆ

 

(๔) ต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อํานาจในทางที่ผิด การฉ้อฉล หลอกลวง หรือ การกระทําอื่นใดที่ทําให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

 

(๕) เปิดเผยหรือให้ข้อมูลข่าวสารอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และ ไม่บิดเบือน แก่ประชาชน

 

ข้อ ๗ ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุก ของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ โดยอย่างน้อยต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) มีอุดมการณ์ในการทํางานเพื่อประเทศชาติและต้องถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและ ประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด

 

(๒) ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

 

(๓) ไม่นําข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตําแหน่ง ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชน ทั้งในระหว่างการดํารงตําแหน่งและเมื่อพ้นจากตําแหน่ง

 

(๔) มีจิตสาธารณะ จิตอาสา และอุทิศตนปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

 

(๕) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบโดยมุ่งหมายให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดอง

 

ข้อ 4 ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยอย่างน้อยต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกําลังความสามารถโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานที่มีคุณภาพ โปร่งใส และ ตรวจสอบได้

 

(๒) ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสําคัญ

 

(๓) อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจหรือกระทําการอื่นใด เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น

 

(๔) เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วนและเท่าเทียมกัน

 

(๕) รักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจตามกฎหมาย

 

(๖) รักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อย่างประหยัด คุ้มค่า ระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น และไม่นําไปใช้เพื่อประโยชน์ ของตนเองหรือผู้อื่น

 

ข้อ ๔ ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยอย่างน้อย ต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติ โดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุผลของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ถิ่นกําเนิด ศาสนา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม รวมทั้งเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

(๒) ปฏิบัติต่อประชาชน ผู้ร่วมงาน และผู้เกี่ยวข้องอย่างให้เกียรติ

 

(๓) ไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง การปฏิบัติราชการ การดําเนินงาน การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตําแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และ การดําเนินการทางวินัย หรือการให้พ้นจากตําแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา และ มิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่ รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจ ตามกฎหมาย

 

(๔) ไม่ยินยอมให้คู่สมรส ญาติสนิท บุคคลในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดก้าวก่าย หรือแทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองหรือผู้อื่น

 

(๕) ปฏิบัติต่อองค์กรธุรกิจที่ติดต่อทําธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐตามระเบียบ และขั้นตอน อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

ข้อ ๑๐ ข้าราชการการเมืองต้องดํารงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ โดยอย่างน้อยต้องดํารงตน ดังต่อไปนี้

 

(๑) รักษาจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี น้อมนําพระบรมราโชวาท หลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคําสอนทางศาสนามาใช้ในการดําเนินชีวิต

 

(๒) เป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดี ด้วยการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

(๓) ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม ทั้งโดยส่วนตัว และโดยหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน

 

(๔) เป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้ง รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย

 

(๕) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด

 

(๖) ต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน และระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ อาชีพ หรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตน มีลักษณะเป็น การกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

 

(๗) ไม่รับของขวัญ ของกํานัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น และจะต้องดูแล ให้คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย เว้นแต่เป็นการรับจากการให้ โดยธรรมจรรยาและการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้รับได้

 

(๘) ไม่กระทําการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทําให้ ผู้ถูกกระทําได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทําอยู่ในภาวะจํายอม ต้องยอมรับในการกระทํานั้น และไม่นําความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพล ครอบงําให้ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด

 

(๔) ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

 

ข้อ ๑๑ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามประมวลจริยธรรมนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

นายกรัฐมนตรี

         

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้าราชการการเมือง หมายถึง บุคคลที่ได้สถานะทางราชการโดยการเลือกตั้งจากประชาชน หรือได้รับการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ทำหน้าที่และรับผิดชอบกิจการทางด้านการเมือง การเข้ารับตำแหน่ง และการออกจากตำแหน่งจะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพิเศษ โดยไม่เกี่ยวข้องกับระเบียบข้าราชการโดยทั่ว ๆ ไป  

 

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 4 บัญญัติให้ข้าราชการการเมืองคือบุคคลซึ่งรับราชการในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ดังต่อไปนี้

 

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) รองนายกรัฐมนตรี

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(4) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(5) รัฐมนตรีว่าการทบวง

(6) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

(7) รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง

(8) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

(9) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

(10) ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(11) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

(12) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

(13) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(14) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(15) เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(16) ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

(17) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(18) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(19) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง

(20) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง

  ประกาศ 52 กฎเหล็กประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ห้ามทุจริต-แทรกแซงขรก.   ประกาศ 52 กฎเหล็กประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ห้ามทุจริต-แทรกแซงขรก.   ประกาศ 52 กฎเหล็กประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ห้ามทุจริต-แทรกแซงขรก.   ประกาศ 52 กฎเหล็กประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ห้ามทุจริต-แทรกแซงขรก.